นี่เราเหงาหรือเราหวังมากไป

142367-143532

ช่วงนี้อากาศหนาวกำลังเข้ามา (แม้จะไม่มากหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้…..) สัญลักษณ์ของฤดูหนาวที่เราได้เห็นกันทั่วๆไป ก็คงเป็นมหกรรมการลดราคาครั้งยิ่งใหญ่  กระดาษห่อของขวัญ  ลานเบียร์  ปาร์ตี้  คริสต์มาส ปีใหม่ หรือ ความสุข  แต่ยังมีอีกอย่างที่มักจะมาคู่กับอากาศหนาว ไม่รู้ว่าโดยบังเอิญหรือว่ามันเกี่ยวข้องกันจริง  นั่นก็คือ “ความเหงา”

 

อาจจะเป็นเพราะว่า เพลงหลายๆเพลงในเมืองไทยมีการเชื่อมโยงกับความเหงา ไม่เชื่อลองฮัมเพลงกันดูไหม

“ลมหนาวมาเมื่อไหร่ ใจฉันคงจะเหงา คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร”

“โอ้ความเหงา มันช่างหนาว มันช่างยาวนานและทุกข์ทน”

“ได้ยินเพลงบอกไว้ ลมหนาวมาถึงเมื่อไร มันต้องเหงาในใจตามเนื้อเพลงอยู่เรื่อยไป”

ก็เลยอาจจะทำให้ความเหงา กลายเป็นส่วนหนึ่งของฤดูหนาว (ที่ไม่ค่อยหนาว) ไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

 

ความเหงาคืออะไรกันแน่?

ทีนี้พอพูดถึง “ความเหงา” หลายคนก็อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า “เอ๊ะ ตกลงแล้วความเหงามันคืออะไร?” หลายคนคงเคยเจอกับมันแต่ว่าถ้าจะให้อธิบายว่ามันคืออะไร อาจจะอธิบายยากหน่อย  “มันก็แบบอารมณ์เคว้งๆว่างๆ ประมาณนี้มั้ง…. บอกไม่ถูกเหมือนกัน”

จากตรงนี้ก็เลยมีนักจิตวิทยาให้คำนิยามเกี่ยวกับ “ความเหงา” ไว้น่าสนใจทีเดียว โดยบอกว่า ความเหงา คือ ความขัดแย้งทางสังคม (social deficiency) ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น (social relationship) น้อยกว่าสิ่งที่บุคคลนั้นคาดหวังไว้   หรือให้พูดง่ายๆก็คือ ความรู้สึกที่เราพบการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมคนรอบตัวเรามันน้อยกว่าที่เราอยากได้นั่นเอง

จากตรงนี้ก็พอให้รู้ได้ว่าความเหงานั้นจริงเป็นเรื่องระหว่างสิ่งที่เราหวังไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้นะ ยกตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัวเลย คนโสดบางคนก็บ่นว่าเหงาอย่างนู้นอย่างนี้ คนโสดบางคนก็รู้สึกว่าก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหงาอะไร นั่นก็อาจจะเป็นเพราะแต่ละคนคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน บางคนต้องการใครสักคนที่จะต้องมาคุยด้วยกับเราเวลาดึกๆคุยมุ้งมิ้งหนุงหนิง แต่บางคนอาจจะไม่ได้อยากได้แบบนั้นเพราะมีกิจกรรมหลายๆอย่างทำอยู่เวลาว่างๆก็เลยอาจจะไม่ได้รู้สึกเหงาหรือต้องการใครสักคนเข้ามาในชีวิต

 

แล้วความเหงามันเกิดขึ้นได้ยังไงหละ?

จริงความเหงาเกิดได้จากเหตุการณ์มากมายหลายอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเป็น อกหัก เพื่อนทิ้ง พ่อแม่ไม่ใส่ใจ ไปเรียนต่อ  เป็นคนขี้เหงา เป็นคนชอบเจอเพื่อนๆแต่ไม่ได้ไป ต้องไปเที่ยวคนเดียว เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ดังนั้นเพื่อให้เป็นหมวดหมู่และสอดคล้องกับกระบวนการการเกิดความเหงา

นักจิตวิทยาเลยแบ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหงาออกเป็น 2 อย่าง

  1. ปัจจัยที่กระตุ้นความเหงา (precipitating factor) มีสองเหตุกาณ์ ก็คือ
    • เหตุการณ์ที่ไปเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับ (Change achieved social relation)  ยกตัวอย่างง่ายนะ เช่น เวลาเราต้องไปเรียนเมืองนอกใช้ชีวิตคนเดียวแบบนี้เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ได้รับ หรือ สภาพตอนเราอกหักใหม่ก็เหมือนกันจากที่มีคนคอยคุยกลายเป็นไม่มี ก็เลยทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยได้มันเปลี่ยนไปไงหละ
    • เหตุการณ์ที่ทำให้คนเปลี่ยนความคาดหวังเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (Change desired social relation) ระดับความคาดหวังของคนเราในเรื่องความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามวัย เช่นตอนวัยรุ่นเราอาจจะอยากเจอเพื่อนพบปะเพื่อนฝูง ชอบออกจากบ้านไปเที่ยว พอเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เรากลับอยากจะอยู่ที่บ้านเงียบๆไม่ค่อยอยากเจอผู้คนมากก็เป็นได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่กำหนดระดับความคาดหวังของคนเราก็คือ บรรทัดฐานของสังคมที่เราอยู่ (social norm) เอาง่ายๆเลย เช่น แกงค์สาวๆที่เริ่มมีเพื่อนๆแต่งงานกันบ้างแล้ว เพื่อนๆที่ยังไม่แต่งหรือยังโสดอยู่ (โดยเฉพาะโสดอยู่นี่หนัก) ก็จะเริ่มละ เฮ้ยอยากมีคู่ อยากมีคนดูแล แต่จริงๆแล้วเราก็อยู่คนเดียวมา 20 กว่าปี ก็ไม่เห็นมีอะไรนิ ก็อยู่ได้ปะ (บ่นทำไม)  จากตรงนี้ก็ทำให้เราสร้างความเหงาให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัวเพราะสังคมบอกกับเราว่าเราต้องมีคู่สิ เราต้องมีแฟนสิ เราต้องแต่งงานสิ  หรืออีกตัวอย่างในชีวิตประจำวันเลย (ประสบการณ์ตรงเลยครับ) ตอนไปดูหนังคนเดียว ตอนแรกกูก็ว่ากุไม่ได้เหงาอะไรหรอกนะ แต่พอเพื่อนทักว่า ไปดูหนังคนเดียวไม่เหงาหรอวะ เออกูเหงาขึ้นมาทันทีเลยหวะ……  และก็มีอีกหลายๆเหตุการณ์ที่สังคมพยายามให้เราต้องยึดกับความสัมพันธ์แม้ว่าจริงๆแล้วมันอาจจะไม่จำเป็นก็ตามที
  2. ปัจจัยที่จูงใจให้เกิดความเหงา (predisposing factor) นั่นก็คือ ลักษณะของแต่ละบุคคลนั่นเอง ลองสังเกตดูง่ายๆก็ได้ว่าสถานการณ์เดียวกัน แต่ละคนก็ตอบสนองต่อความเหงาไม่เหมือนกัน มีหลายบลักษณะของบุคคลที่นำมาศึกษาแล้วพบว่ามีผลต่อความเหงา อย่างเช่น คนที่ขี้อายจะถูกพบว่าเป็นคนที่มีความเหงาในระดับสูง (Zimbardo, 1977) หรือ คนที่มีความรู้คุณค่าในตนเองต่ำ (self-esteem) ก็พบว่าเป็นผู้ที่มีความเหงาสูงเช่นกัน

 

จากปัจจัยทั้ง 2 ปัจจัยของสรุปง่ายๆว่า ความเหงาเกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับความสัมพันธ์ที่อยากได้กับที่ได้รับดันไม่เท่ากัน ส่วนลักษณะของแต่ละบุคคลจะเป็นตัวบอกว่า แต่ละคนจะมีโอกาสจะควบคุมความไม่สอดคล้องนี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน บางคนมีคุณลักษณะที่สามารถรับมือกับความเหงาได้ บางคนก็ไม่สามารถรับมือได้ก็จะแสดงความเหงาออกมาในรูปพฤติกรรม เช่น เหม่อลอย  ไม่มีความสุข เบื่อชีวิต ดังที่เราเห็นกัน

 

แล้วเราจะจัดการกับความเหงายังไงดีหละ?

จริงหลายๆคนคงมีวิธีการจัดการกับความเหงาของตัวเองในหลายๆรูปแบบจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในชีวิต ซึ่งนักจิตวิทยาหลายคนก็ได้ทำการแบ่งกลุ่มวิธีการในการจัดการกับความเหงาซึ่งถ้าดูดีๆจะสอดคล้องกับกระบวนการทำให้เกิดความเหงา และได้สรุปวิธีการออกมาเป็น กลยุทธ์ 3 ประเภท

  1. ปรับลดความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (Reduce desired level of social contact) คนเรามีวิธีการมากมายในการปรับลดเรื่องความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะปรับตัวได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น สาวที่ตัวติดกับเพื่อนตลอดเวลา พอเพื่อนไปมีแฟนแล้วติดแฟนไม่มาอยู่กับเรา ตอนแรกเราก็เซ็งผสมเหงา และงอนเพื่อนว่า “มีแฟนแล้วก็งี้ ลืมเพื่อน” แต่พอเวลาผ่านไปความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์เราจะลดลงเราจะเข้าใจโลกมากขึ้นและเริ่มเข้าใจว่าทำไมเพื่อนถึงเป็นแบบนั้น นอกจากนั้นคนเราก็มีการ “หาทำอะไรแก้เหงา” ด้วย ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมที่เราทำคนเดียวแต่ว่ามันเป็นการฆ่าเวลาทำให้เราไม่ได้ไปคิดเรื่องเหงา เช่นอ่านหนังสือ นั่งดูหนังที่ซื้อมา นั่งเล่นกับหมา หรืออีกหลายๆอย่าง ก็จะช่วยทำให้เรารู้สึกสนุกและลืมเรื่องความเหงาไปได้ เลยมักจะมีคนบอกว่า เวลาอกหักแล้วเกิดเหงา ไม่รู้จะทำอะไร เพราะปกติต้องไปกับแฟน แต่ตอนนี้ไม่มีแฟนแล้ว ให้พยายามหากิจกรรมอื่นเข้ามาในชีวิต เพื่อให้เราไม่ไปยึดติดกับความเหงานั้น และทำให้เราปรับลดความหวังไปอีกระดับนึง
  2. เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับให้มากขึ้น (Increase actual level of social contact) หลายคนก็เลือกที่จะแก้เหงาด้วยวิธีนี้ โดยส่วนใหญ่จะทำการสร้างสังคมใหม่ๆ เพื่อจะได้เพื่อนใหม่ อย่างเช่น ไป hang out กับเพื่อนที่ยังไม่ค่อยสนิทกัน ลองไปทำกิจกรรมอาสาต่างๆ  ออกไปทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ เช่น วิ่งมินิมาราธอน ปั่นจักรยาน ดำน้ำ สมัครเรียนปริญญาโทหรือประกาศนียบัตร  เป็นต้น หรือบางคนซึ่งอาจจะไม่ค่อยชอบออกไปเจอผู้คนใหม่ๆเท่าไหร่ ก็อาจจะเพิ่มความสัมพันธ์กับเพื่อนๆที่ตัวเองมีอยู่ เช่น เริ่มคุย line กับ เพื่อนมากขึ้น  มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ตัวเองรู้จักมากขึ้นยอมออกจากบ้านไปเที่ยวกับเพื่อนๆ  คุยโทรศัพท์กับเพื่อนมากขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว
  3. ปรับลดความสำคัญของความแตกต่างระหว่างความสันพันธ์ที่อยากได้กับที่ได้รับให้ลดลง (Minimize the size of important of social deficiency) วิธีการนี้อาจจะยากสักหน่อยแต่ก็เป็นอีกวิธีที่คนเราใช้เพื่อปรับลดความเหงาในจิตใจ บางครั้งเราเลือกกดความรู้สึกเหงาของเราเอาไว้ในจิตใจโดยการแสดงออกที่ทำให้คนอื่นดูว่า เราสดใสร่าเริง มีความสุข ซึ่งแน่นอนว่าก็จะช่วยเราไม่รู้สึกเหงาไปชั่วขณะได้แม้จะไม่ยั่งยืนก็ตาม  อีกอย่างที่คนเรามักจะทำกันก็ คือ การที่เราลดคุณค่าในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมลงและมองว่ามีอีกตั้งหลายเรื่องในชีวิตที่สำคัญไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมเท่านั้น  เช่น บางคนอาจจะปรับลดความเหงา ไม่ค่อยมีเพื่อนด้วยการมองว่าไม่เห็นต้องมีเพื่อนเยอะแยะเลยนิ  เราว่าเรื่องเรียน เรื่องงานสำคัญกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีสังคมเยอะแยะก็ได้นิ  แม้วิธีแบบนี้อาจจะดูว่าคนๆนั้นเป็นคนแปลกๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอีกวิธีการที่คนเราใช้เพื่อจะเอาตัวรอดจากภาวะที่รู้สึกอึดอัดแบบนี้

 

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ความเหงาเป็นเรื่องที่ทุกคนคงต้องเจอกันบ้างแหละในชีวิต เพราะเนื่องจากคนเราเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องพบเจอคนอื่นอยู่ทุกวัน การเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นก็เกิดขึ้นทุกวัน เวลาเปลี่ยนไปคนที่เราเคยสนิทก็อาจจะกลายเป็นไม่สนิทก็ได้ ไหนจะเรื่องกรอบของสังคมอีก หลายๆอย่างทำให้บางครั้งเราก็รู้สึกเหงา เราก็รู้สึกไม่มีใคร เราก็รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ แต่ยังไงก็ตามสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกแย่หรือเหงาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นสำคัญบางครั้ง เราก็อาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราหวังกับสังคมรอบตัวเรามากไปหรือป่าว”

ลองดูไหม ลองออกไปทำกิจกรรมต่างๆคนเดียวดูบ้าง ลองออกไปวิ่งสวนตอนเช้า ลองออกไปดูหนังที่อยากดูคนเดียว ลองออกไปนั่งฟังเพลงชิวๆที่เราชอบ ลองหยิบหนังสือสักเล่มเข้าร้านกาแฟแล้วนั่งอ่านไป ไม่แน่ว่าสุดท้ายคุณอาจจะชอบเวลาคุณใช้ชีวิตคนเดียวด้วยซ้ำไป และการทำแบบนี้จะสร้างให้คุณไม่ยึดติดกับสังคมมากจนเกินไป และแน่นอนว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นเพราะคุณเป็นคนกำหนดมันเอง และไม่ปล่อยให้สังคมมาเป็นตัวกำหนดความสุขของคุณ แต่ให้สังคมเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้น……….

 

บางทีเราอาจจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตคนเดียวก็เป็นไปได้

แด่คนขี้เหงาทุกคน

—- เนดะ

Reference:

Peplau, L. A., & Perlman, D. (1979). Blueprint for a social psychological theory of loneliness. In M. Cook & G. Wilson (Eds.), Love and attraction. Oxford, England: Pergamon, 99-108.

 

จิตวิทยาแห่งความคิดถึง

miss-you

คุณเคยคิดถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตบ้างไหม? คุณเคยอยากย้อนเวลาไปช่วงเวลานั้นไหม? แล้วคุณเคยคิดถึงใครจนแทบจะขาดใจไหม? ผมว่าพวกเราหลายๆคนคงเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต เหตุการณ์ที่มนุษย์เราเรียกมันว่า “ความคิดถึง” ความคิดถึงนั้นอยู่ในทุกๆที่อยู่ในทุกๆช่วงการดำเนินชีวิตของพวกเรา บางครั้งความคิดถึงก็รุนแรงจนทำให้เราอยากเป็นบ้า บางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เรายิ้มและหัวเราะทั้งน้ำตา

“ความคิดถึง” เป็นที่รู้จักกันดีในชีวิตมนุษย์เรามานานแล้ว เพราะเนื่องด้วยมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความผูกพันระหว่างกันและเป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความคิดถึง” อย่างจริงจัง จนกระทั่งในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับความคิดถึง แต่ศึกษาในเชิงผลเสียที่เกิดขึ้นกับความคิดถึง โดยในทางจิตวิทยาคลีนิกเราเรียกความคิดถึงว่า “nostalgia” มีรากศัพท์จากภาษากรีซ โดยเกิดจากการผสมคำคือคำว่า “nosto” แปลว่า “Homecoming” หรือการกลับบ้าน กับความว่า “algos” แปลว่า “pain” หรือความเจ็บปวด

โดยศัพท์นี้เกิดขึ้นจากนักเรียนแพทย์ที่ใช้เรียกอาการวิตกกังวลและความกลัวของมิชันนารีชาวสวิสที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อมาเผยแพร่ศาสนา หรือจะเรียกง่ายๆว่าเป็นอาการ “homesick” แต่เป็นระดับที่รุนแรงจนถึงว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจ ในช่วงแรกๆของการศึกษาความถึงนั้น นักวิจัยแทบทุกคนเน้นศึกษาเกี่ยวกับการรักษาทางคลีนิกและผลเสียที่เกิดจากอารมณ์ความคิดถึง โดยผลกระทบเนื่องจากความคิดถึงได้แก่ การนอนไม่หลับ (insomnia), ความวิตกกังวล (anxiety), ความผิดหวัง (depression) และนักวิจัยหลายท่านถือว่า “nostalgia” เป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง (symptom)

ต่อมาในช่วงปลายคริสศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันจึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับ “nostalgia” หรือความคิดถึงในเชิงบวกและเชิงโรแมนติกมากขึ้น โดยนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้คำนิยามคำว่า “nostalgia” เพิ่มเติมโดยหมายถึงการรำลึกหรือนึกถึงสิ่งต่างๆในอดีตซึ่งในปัจจุบันไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว จากงานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่าในขณะที่เกิดความคิดถึงสิ่งต่างๆในอดีตนั้น มนุษย์เรามันจะนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต และส่งผลให้เกิดรู้สึกถึงความอบอุ่น มีความคิดเชิงบวกเวลาเราเกิดอาการคิดถึง

มีหลายงานวิจัยที่ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ความคิดถึง” (nostalgia) กับ ตัวแปรทางจิตวิทยาต่างๆ ซึ่งปรากฎว่า “ความคิดถึง” นั้นมีผลดีต่อบุคคล เช่น ช่วยลดความเบื่อ (boredom) ถ้าลองนึกดูก็จะพบว่าเวลาเราเบื่อๆ บางครั้งก็มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆในอดีตของเราที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นมีคุณค่า ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราหายเบื่อได้ ความคิดถึงยังมีความสัมพันธ์กับการสนับสนุนทางสังคม (socail support) โดยความคิดถึงจะทำให้เราระลึกได้ว่าเรายังมีคนรอบข้างที่คอยให้การสนับสนุนเราอยู่ ซึ่งการระลึกนี้ก็จะช่วยให้เราคลายความเหงาและความวิตกกังวลลงได้ และบางครั้งก็ช่วยให้เราหายเครียด หดหู่ใจ หรือแม้กระทั่งช่วยให้คนที่กำลังจะตายด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ มีกำลังใจจะลุกขึ้นสู้ต่อไป

โดยส่วนตัวแล้วอยากจะสรุปว่าความคิดถึงนั้นส่งผลดีและผลเสียแก่ตัวบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าระดับความรุนแรงของความคิดถึงนั้นมีมากน้อยเพียงใด ถ้าความรุนแรงของความคิดถึงสูง เป็นแนว “illness” ความคิดถึงนั้นก็ก่อให้เกิดผลเสีย ความคิดถึงนั้นจะทำให้เราซึมเศร้า วิตกกังวลจนถึงกระทั่งเกิดความผิดปกติทางจิตใจและบางครั้งก็นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเราก็เคยได้เห็นกันมาบ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าความรุนแรงของความคิดถึงนั้นมีอย่างพอเหมาะ เป็นความคิดถึงแนว “missing” โรแมนติก ก็ทำให้เกิดผลดี คือทำให้เรารู้สึกว่ามีคนคอยเป็นห่วง คอยให้กำลังใจเราอยู่ แม้ว่าตัวเขานั้นจะไม่ได้อยู่เคียงข้างกับเราก็ตาม และบางครั้งการรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆในอดีตก็ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง และช่วยให้เรามีพลังที่จะต่อสู้และผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้

จะเห็นได้ว่าความคิดถึงนั้นส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลอย่างมากไม่ว่าจะเป็นทั้งผลดีหรือผลเสีย จนในทางการตลาดได้มีการนำเอา “ความคิดถึง” มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการขายผลิตภัณฑ์ เรียกว่า “nostalgic marketing” ซึ่งอาจจะได้เห็นกันบ่อยๆในช่วงนี้ ถ้าทุกท่านลองสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีศิลปินนักร้องในยุคเก่าๆ ออกมาเปิดคอนเสิร์ตรำลึก 10 ปี หรือ 20 ปี ให้คนฟังนั้นหายคิดถึง หรือบางครั้งเราจะเห็นการที่สินค้าต่างๆนำเอาสินค้าเก่าของตัวเองมาปัดฝุ่นใหม่ เพิ่มลูกเล่นให้ทันสมัยขึ้นแล้วนำออกมาขายในตลาด สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เราเรียกว่า “nostalgic marketing” หรือ “การตลาดแห่งความคิดถึง” และเราก็คงได้เห็นกันแล้วว่ายอดขายจากการตลาดแบบนี้สำเร็จอย่างถล่มทลาย ไม่เชื่อลองไปซื้อซีดีคอนเสิร์ต Raptor, Nuvo, ฺBakery มาดูได้….. ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ความคิดถึง” นั้นมีอนุภาพมากมายเพียงใด

มันก็คงจะจริงอย่างที่ว่ากันว่า ความคิดถึงนั้นมีอนุภาพมากๆและอยู่กับเราในทุกๆช่วงของชีวิตจริงๆ ในบางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เราเซ็งและก็อาจจะทำให้เราเศร้าได้ แต่ลองสังเกตดูสิ ทุกครั้งที่เราคิดถึงภาพความทรงจำดีๆมันมักจะกลับมาหาเราอยู่เสมอๆเลยนะ และความทรงจำนั้นก็มักจะทำให้เรามีความสุขแม้แม้ว่าตัวเราจะร้องไห้อยู่ก็ตาม ความคิดถึงก็คงจะเป็น “ความเจ็บปวดที่งดงาม” ประเภทหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้รู้สึกถึงว่าเรายังมีคนรอบข้างเราที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่กับเขาก็ตาม ดังนั้นแล้วจงอย่าหวาดกลัวความคิดถึงและจำไว้ว่า คนที่อยู่ในภาพความทรงจำแห่งความคิดถึงของคุณยังเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ…..

ตัวหนังสือเหล่านี้ร้อยเรียงมาจากความคิดถึงระหว่างเรา ขอบคุณที่ยังคิดถึงกันนะ

ผมก็คิดถึงคุณเหมือนกัน

—— เนดะ

เพราะเราอะไรเราถึงกลัว?

Io_Fear_standard2.jpg

คุณเคยกลัวอะไรบ้างไหม? ผมว่าพวกเราทุกคนจะต้องมีอะไรที่เรากลัวบ้างแหละ บางคนกลัวหมา บางคนกลัวหนู บางคนกลัวจิ้งจกและแทบทุกคนที่ผมรู้จักมักจะกลัวแมลงสาบ (ร้อยละ 80 ของคนไทยกลัวแมลงสาบ 555) นอกจากพวกสัตว์หน้าตาน่ากลัวแล้วบางคนก็กลัวเป็นสิ่งของ บางคนกลัวลูกโป่ง บางคนกลัวส้ม (จะบ้าตายเพื่อนผมเองกลัวส้ม) บางคนก็กลัวเป็นสถานที่ เช่น พวกกลัวความสูง กลัวบ่อน้ำไรงี้

นอกจากความกลัวแบบที่กล่าวไปแล้ว ผมว่าทุกคนน่าจะเคยกลัวนะ “เคยกลัวที่จะทำอะไรบางอย่าง” เอาง่ายๆเลยนะ หนุ่มๆทั้งหลายเคยกลัวที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสาวที่ถูกใจไหมละ (เอาตอนที่ความหน้าด้านและความหน้าม่อของคุณยังไม่ถูกฝึกนะ ผมว่ามันต้องเคยกันบ้างละ) หรือเคยกลัวว่าจะสอบตกป่าวละน่าจะเคยกันนะ ถ้าไม่เคยจะดูเก่งเกินไปละ 555

พูดมาขนาดถึงขนาดนี้หลายๆคนคงน่าจะอยากรู้กันบางแล้วมั้งว่าความกลัวมันเกินจากอะไรวะ? แม่งเกิดมาได้ยังไงเนี่ย วันนี้เลยอยากจะขออาสามาบอกเล่า ที่มาของการเกิดความกลัวให้ฟังกัน

สาเหตุแรกของการเกิดความกลัว ก็คงมาจากการที่เราเคยลองทำอะไรบางอย่างไปแล้ว ปรากฏว่าผลมันไม่เป็นดั่งหวัง พอครั้งต่อมาเราก็เลยไม่กล้าที่จะทำมันอีก ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วเราสามารถอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ ด้วยหลัก Operant Conditioning (การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ) ของ Skinner ซึ่งอธิบายว่า พฤติกรรมของคนเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการ “การเสริมแรง” และพฤติกรรมจะลดลงเมื่อมี “การลงโทษ” หริอ ถ้าจะพูดง่ายๆก็คือ พอทำอะไรไปแล้วไม่ดี โดนลงโทษ ได้ผลลัพธ์ไม่ดี ทำให้เราเสียใจ เราอาจจะเกิดอาการ “เข็ด” เกิดขึ้น แล้วก็ไม่อยากจะทำต่อละ คือแม่งเซ็งเข้าใจปะ ยกตัวอย่างเช่น หนุ่มบางคนไปขอเบอร์สาวเป็นครั้งแรกก็โดนปฏิเสธไม่สนใจใยดี พอเจอปฏิเสธหลายๆครั้งเข้าก็เลยเกิดความวิตกกังวล เกิดความกลัวในการที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสาวที่ชอบ……………เฮ้ยโลกนี้แม่งอยู่ยากจังวะ

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความกลัว ก็คือ การเกิดความวิตกกังวล (Anxiety) หรือพูดง่ายๆก็คือ อาการป๊อดนั่นเอง
พอเกิดความกังวลมากเข้า เนื่องจากได้ยินได้ฟังเรื่องจากคนอื่นจากสื่อ เราก็เริ่มมโนว่าไม่ควรทำหรอกนะ ถ้าเราทำมันต้องแย่แน่เลย แล้วถ้าทำลงไปจะเกิดอะไรขึ้นไหม แล้วสุดท้ายก็ทำให้เรากลัวที่จะทำขึ้นมาในที่สุด ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจจะอธิบายได้โดยหลักการของ Albert Bandura ที่บอกว่า คนเราเรียนรู้และมีพฤติกรรมต่างๆโดยการสังเกตหรือการมีต้นแบบ

คิดง่ายๆว่าเวลาปกติเราจะทำอะไร เราก็มักจะคอยดูก่อนว่า คนอื่นเขาทำไหมเขาทำกันยังไง ทีนี้ปัญหามันก็มาเกิดตรงที่ว่าถ้าเกิดเราเห็นว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน เราก็จะเกิดอาการกลัวขึ้น เริ่มจะป๊อดแล้วอะ ไม่กล้าทำแล้วอะก็เราเห็นคนอื่นเขาไม่ทำกัน

ปัญหาคือแม่งยังไม่ลงมือทำเลยแต่เรียนรู้จากการสังเกตมาแล้วก็คิดถอนใจว่า เราทำไมได้หรอก กลัวที่จะทำหวะ วิตกกังวลที่จะทำหวะ เช่น สาวๆหลายคนคงประสบปัญหามากเมื่ออายุเยอะแล้วยังไม่มีแฟน หลายคนอยากจะเป็นฝ่ายจีบผู้ชายก่อนแต่ไม่กล้า โอ๊ยจะบ้าหรอไปจีบผู้ชายก่อน มันไม่ดีไม่ดีแน่ๆ ผู้ชายที่ไหนเขาจะชอบ เอิ่มป้าอย่าเพิ่งมโน ถ้าป้ามัวคิดแบบนี้อยู่บนคานต่อไปอาจจะถูกแล้วแหละ 5555

จากที่บอกไปแล้วว่า “ความกลัว” เกิดมาจากสาเหตุอะไร ทีนี้นักจิตวิทยาหลายท่านก็เอาไปคิดต่อว่า แล้วเมื่อมันเกิดความกลัวแล้วเนี่ยคนเราทำอย่างไร จากการศึกษาก็สรุปได้ว่า คนเราจะตอบสนองกับความกลัวได้ 2 แบบ คือ “สู้ หรือ หนี” (Fight or Flight response)

สำหรับ “การหนี” ก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติของสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่จะหนีจากความกลัวต่างๆ โดยเราก็จะเก็บความกลัวเอาไว้แล้วก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความกลัว เช่น คนกลัวผีก็พยายามเปิดไฟตลอดเวลา นอนเปิดไฟกูก็เอา คนกลัวหมาเวลาเจอหมาก็ต้องไปแอบหลังคนอื่น (เป็นเวลาได้โชว์แมน ถ้าเจอสาวๆกลัวหมา 555)

ส่วน “การสู้” นั้นเป็นสิ่งที่ทำยากกว่าการหนีมากๆ และจำเป็นจะต้องใช้สิ่งที่เราเรียกว่าความกล้าในการเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเอง แต่ก็ใช่ว่ามันจะยากมากจนทำไม่ได้ แต่ต้องมีเทคนิคและค่อยเป็นค่อยไป ขอย้อนไปเล่าเรื่องสุดคลาสสิกเกี่ยวกับความกลัวของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง คือ Watson

Watson มีความตั้งใจจะศึกษาเรื่องความกลัว เลยพยายามทำให้เด็กชาย Albert กลัวหนูขาวและของสีขาว หลังจากนั้นเขาวางแผนจะทดลองดูดิว่าจะทำให้ Albert หายกลัวหนูได้ไหม แต่เสียดายที่ Albert ย้ายออกไปจากเมืองก่อน (Albert ก็เลยน่าสงสารไป) ดังนั้น Watson ก็ไปตามหาเด็กที่กลัวของสีขาวต่อในเมือง จึงไปเจอ Peter ที่กลัวกระต่ายขาวมาก Watson ก็เลยเอา Peter มาทดลองโดยใช้หลักการแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยขั้นแรกให้ Peter กินไอติม (ล่อด้วยของที่ชอบ) แล้วเอากระต่ายขาวขังกรงมาไว้ใกล้ๆ จากนั้นก็เลื่อนให้เข้าใกล้ Peter มากขึ้นทีละนิด บางครั้งก็ให้เพื่อน Peter มาเล่นกับกระต่ายด้วย เพื่อทำให้ Peter เห็นและมั่นใจว่ากระต่ายไม่ได้น่ากลัวดุร้ายอะไรนิเล่นด้วยได้ หลังจากทำแบบนี้ไปสักพัก การเชื่อมโยงระหว่างกระต่ายกับบางสิ่งที่ Peter กลัวที่อยู่ในความคิด Peter ก็หายไปได้ ทดลองไปมาจนในที่สุดกระต่ายไปวางอยู่บนตัก Peter ได้ Watson เลยพิสูจน์ได้ว่าความกลัวนั้นสามารถทำให้หายไปได้

หรืออาจจะบอกได้ว่าจริงๆแล้ว ถ้าเราได้มีโอกาสลองทำในสิ่งที่เรากลัว โดยค่อยๆทำค่อยๆกล้าที่ละนิด (อย่าทำแบบ extreme เพราะถ้าผลลัพธ์เกิดไม่ดีเราจะไม่มีทางได้ทำเรื่องที่เรากลัวอีกเลย) ค่อยๆลองไปทีละอย่าง พอเราเริ่มออกไปทำ ความกล้าเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งถ้าเราได้เห็นคนอื่นที่ทำในสิ่งที่เรากลัวได้ เราก็ยิ่งจะมั่นใจว่าจริงๆแล้วเราไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย จนในที่สุดความกลัวนั้นก็หายไปในที่สุด

ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกกับทุกคนว่า เราสามารถเอาชนะความกลัวได้ เราเอาชนะความวิตกกังวล และความป๊อดของเราได้ ถ้าเราคิดจะทำมันจริง ถ้าเรากล้าที่จะเปลี่ยนความคิดและเริ่มลองทำ โดยเริ่มลองทำจากเล็กๆก่อน แล้วค่อยๆปรับให้เข้มข้นขึ้นใหญ่ขึ้น พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากคนรอบตัว แค่นี้เราก็สามารถจะเอาชนะความกลัวได้ครับ เชื่อผมเหอะเราทำได้จริงๆ

ความกลัวเป็นสิ่งที่เอาชนะได้ ขอแค่ลองทำทีละน้อย

เนดะ

Reference:
1) B. F. Skinner, About Behaviorism
2) Bandura, A. (1977). Social learning theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.
3) Watson & Rayner, 1920, p. 1

เครียดเว้ยเฮ้ย

man-stressed-at-work-350

มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราเกิดมาต้องพบเจอแน่นอน…………….
อะไรนะหรอ…………… ความตาย……………..
ไม่ใช่นะ………อันนี้เจอก่อนความตายอีก แล้วบางครั้งเจอมันก็เหมือนอยากจะตายเลยหละ
อะไรนะหรอ…………… ความเครียดไง……………. จำเราได้ไหมเพื่อน

ใช่แล้วครับความเครียดเนี่ยแหละที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพบเจอกันอย่างแน่นอน และก็มักจะสร้างปัญหาให้กับพวกเราอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเวลาช่วงสอบตก อกหัก รักคุด ตุ๊ดเมิน หวยแดก แหกด่าน หรืออะไรก็ตามที

ความเครียดนี่มันแย่จริงๆเนอะ ชอบมาเจอเราตอนเราอยู่ในสภาพแย่ๆตลอดเลยจริงไหม……
แต่อย่าเพิ่งปรับปรำความเครียดกันมากจนเกินไปครับ
ลองคิดดูว่าความเครียดบางครั้งก็ช่วยสร้างพลังให้เราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และผ่าฟันปัญหาไปให้ได้

จากตรงนี้เลยมีนักจิตวิทยาที่ชื่อ Selye ได้แบ่งความเครียดออกเป็นสองประเภทง่ายๆ คือ

1) Eustress คือ ความเครียดที่ดี หรือความเครียดที่อยู่ในระดับพอเหมาะ คนที่เครียดเขารู้ว่าจัดการได้แต่ก็รู้สึกเครียดนิดนึงให้มันอินกันสถานการณ์และทำให้มีแรงผลักดัน อารมณ์คล้ายๆ เวลาใกล้สอบ แล้วเรารู้ว่าอ่านจบแหละแต่เราก็ยังรู้สึกเครียดๆหน่อยเพื่อให้เราไม่ชิวเกินไปไง

2) Distress คือ ความเครียดที่แย่ คือ แม่งเครียดเกินไป หรือเครียดบ่อย คนที่เครียดจะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมความเครียดได้เลย คิดง่ายเวลาอกหักร้องไห้ขี้มูกโป่งนั่นแหละใช่เลย

แล้วความเครียดเกิดขึ้นมาได้ยังไงกัน?

จริงๆแล้วมีคนให้คำนิยามมากมายเลยนะความเครียดเนี่ย แต่ถ้าจะเอาที่ฮิตกันก็จะมีทฤษฎีของ Lazarus และ Folkman (1984) โดยทฤษฎีเขาจะมีโมเดลง่ายๆคือ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น –> กระบวนการประเมิน ——> ผลของความเครียด

อธิบายง่ายๆเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
1) เริ่มจากคนเราไปเจอกับสถานการณ์บางอย่างที่เป็นตัวก่อความเครียด (stressor) ก่อน เช่น งานหนัก อกหัก แฟนทิ้ง
2) ต่อมาจะเริ่มประเมินว่าเราจัดการกับมันได้ไหม ถ้าเกิดประเมินแล้วสบายไหวแน่ จัดการได้ ก็ไม่เครียด
3) แต่ถ้าเกิดไม่ไหวหวะรับมือไม่ได้ ก็จะแสดงผลออกมาในรูปความเครียด

แล้วจากโมเดลที่บอกไปทำให้เราเข้าใจเหตุกาณ์ประหลาดอย่างนึงได้ เคยสังเกตไหม ทำไมคนสองคนเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่กลับได้ผลลัพธ์ต่างกัน

จริงๆก็เพราะ เรื่องการประเมินนั่นแหละ มันอยู่ที่ว่าเรามองสถานการณ์ที่เข้ามายังไง บางคนมองแล้วเครียดก็เครียด บางคนกลับมองมันในอีกรูปแบบเช่น มองเป็นความท้าทาย เขาก็ไม่เครียด…. คนเรามันก็ต่างกันตรงนี้

ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือแล้วเราจะจัดการความเครียดยังไงหละ?

เรารู้สาเหตุของความเครียดละว่ามีปัจจัยหลัก 2 อย่าง
1) สิ่งที่ทำให้เราเครียด
2) กระบวนการประเมินของเรา

ดังนั้นจะจัดการความเครียดก็ง่ายมากก็ไปจัดการสองตัวนี้ไงหละ

1) จัดการกับสิ่งที่ทำให้เราเครียด (stressor)

ขั้นตอนที่สำคัญมากในการจัดการกับสิ่งที่เราเครียด…… คือจะต้องรู้ให้ก่อนว่าอะไรทำให้เราเครียด หลายครั้งหลายหนที่บางคนบอกว่าเครียดหวะ แต่พอถามว่าทำไมเครียดกลับไม่สามารถตอบได้ว่าเครียดเพราะอะไร

ซึ่งอันที่จริงแล้วมันมีแหละว่าอะไรเป็นตัวที่ทำให้เราเครียดแต่บางครั้งเราก็แค่ไม่อยากจะยอมรับมันเท่านั้นแหละ หลังจากระบุได้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเครียด วิธีการจัดการกับมันก็คือ อย่าพาตัวเองไปเจอสิ่งนั้นนั่นเอง

เช่น เรารู้ว่าอกหักนี่แหละทำให้เราเครียด การที่เรายังคงพยายามติดต่อคนรักเก่าผ่าน line มองของขวัญที่เขาเคยให้ ไปในที่ที่เคยไปด้วยกันสองคนนั้นก็เป็นการเพิ่มให้เราเกิดความเครียดมากขึ้น

สิ่งที่ควรทำคือหลืกเลี่ยงทุกสิ่งทุกอย่างเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเขา ออกจากบ้านไปพบปะกับผู้คนคุยกับคนอื่น ระบายความอึดอัดให้คนอื่นได้ฟัง……….

2) จัดการที่กระบวนการประเมิน

ซึ่งก็มักจะใช้เมื่อเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงกับตัวก่อความเครียดพวกนี้ได้ เช่น เราเครียดเพราะการบ้านเยอะมากๆ ทำไม่ไหว แต่ถามว่าหลีกเลี่ยงได้ไหม ก็คงไม่ได้

ดังนั้นเราจำเป็นต้องจัดการในกระบวนการประเมินของเรา…….. คือ เปลี่ยนจากที่คิดว่าทำไม่ได้ ให้เป็นทำได้หรือจัดการได้

วิธีการที่ใช้กันอาจจะเป็นการแบ่งย่อยงานเป็นส่วนเล็กๆแล้วค่อยๆทำส่วนเล็กๆไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้วที่คนมันคิดว่าทำไม่ได้หรอกงานนี้ เพราะเรามันมองภาพใหญ่จนเกินไปและสรุปว่าทำไม่ได้หรอก ไม่ทำแล้วเว้ย เครียด สุดท้ายก็ทำไม่เสร็จ

ในขณะที่ถ้าเราค่อยๆจัดการเรื่องให้มันเล็กลงค่อยๆทำไปทีละส่วน เสร็จไปทีละส่วนก็ทำให้เรามีกำลังใจและสามารถทำงานใหญ่ งานเยอะให้เสร็จได้………..

หรืออาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ คือ คิดว่าเรื่องพวกที่ทำให้เครียดเนี่ย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของชีวิต (It is not the end of the world.) ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ “ช่างแม่งเหอะอย่าไปคิดมาก” หลายคนบอกว่าวิธีมันดีจริงหรอ “การช่างแม่ง” เนี่ย

แต่จริงๆแล้วในบางครั้งการปล่อยเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญออกจากชีวิตแล้วใช้ชีวิตต่อไป กลับพบว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญนั้นอาจจะไม่ได้สำคัญจริงๆก็ได้

และการไม่มีมันก็ทำให้มีความเครียดน้อยลงและมีความสุขมากขึ้นด้วย เช่น การไม่มีแฟนจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องแย่ขนาดนั้นหรอกนะ มันก็แค่เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามีแล้วดี แต่จริงๆไม่มีชีวิตเราก็มีความสุขดีนิ……

ทุกคนหลีกหนีความเครียดไม่ได้หรอก…..

อย่างที่รู้กันว่าไม่มีทางหรอกที่เราจะหลีกเลี่ยงกับความเครียด ใครบ้างเกิดมาไม่เคยเครียดเลย ทุกคนก็เจอกับความเครียดทั้งนั้นแหละ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครที่สามารถจัดการกับความเครียดได้ดีกว่ากัน

คนที่จัดการกับมันได้อย่างดี มีการจัดการทั้งตัวก่อความเครียดและกระบวนการคิด ก็สามารถดำรงชีวิตและยืนหยัดอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากของชีวิต แต่คนที่จัดการไม่ได้ก็อาจจะต้องเผชิญกับผลที่ตามมาทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าเราเปรียบ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค คือปัจจัยสี่ทางภายภาพแล้ว การจัดการความเครียดก็คงจะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ทางจิตใจของมนุษย์นั่นแหละ…….

บางทีชีวิตก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก……….
นอกจากมีความสุขไปวันๆก็เป็นได้………..
แต่ความยากของการได้มาซึ่งความสุขในสมัยนี้…….
ก็อาจจะเพราะเรานิยามความสุขของคนไว้สูงมากก็เท่านั้นเอง…………

—- เนดะ

Reference:
Lazarus, R.S., & Folkman, S. (1984). Stress, appraisal, and coping. New York, NY: Springer.
Selye, H. (1976). Stress in health and disease. Reading, MA: Butterworth’s.

ทุกคนต้องการที่ยืน

pride-flag-

Rainbow flag proudly waving

คุณเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมพระเจ้าไม่สร้างให้คนเราให้เหมือนกันหมด ทำไมคนเราถึงต้องมีความแตกต่างกัน หรือเป็นเพราะว่าคนเราเองนั่นแหละที่สร้างระบบต่างๆเพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา และไม่ว่าเหตุผลของคำถามเหล่านี้จะเป็นอะไรก็ตาม สึ่งที่เราต้องยอมรับเลยก็คือ โลกเรานั้นมี “ความแตกต่าง” อยู่จริง และคงไม่มีวันที่่ “ความแตกต่าง” จะหายไป ตราบใดที่ “ความแตกต่าง” นั้นยังมีกลไกที่ช่วยสร้าง “ความหลากหลาย” ทางความคิดให้เกิดในสังคมหรือองค์กร และความหลากหลายเนี่ยแหละเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆเกิดขึ้นมากมาย

ดังนั้นเมื่อเราไม่อาจจะหลีกเลี่ยง “ความแตกต่าง” ได้ สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีคือ การยอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นให้ได้ แต่อย่างที่เราทุกๆคนคงเห็นกันในทุกๆที่ รวมถึงบางครั้งเองเราก็เป็นแบบนั้น คือ การไม่ยอมรับคนบางคนเข้ามาอยู่ร่วมกลุ่มกับเรา และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้ว แต่ การกระทำของเรานั้นได้ทำร้าย “คนคนนั้น” เข้าอย่างจัง

ที่ว่าเรากำลังทำร้ายเขา คือยังไง ลองคิดตามง่ายๆ เวลาตอนเด็กๆมีคนมาล้อคุณว่า คุณอ้วนดำ คุณมันไอ้เด็กเรียนขี้ฟ้อง คุณมันไอ้ตุ๊ด ไอ้เอ๋อ เพื่อนๆไม่ยอมคุยกับคุณและไม่ให้คุณเล่นด้วย ไม่รับคุณเข้ากลุ่มทำรายงาน ลักษณะแบบนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า คุณไม่ได้รับ “การยอมรับทางสังคม” ทางสังคม ความรู้สึกตอนนั้นคุณก็คงสงสัยว่านี่ “กูทำอะไรผิดหรือป่าว ทำไมการที่กูเป็นแบบนี้มันผิดตรงไหน” บางทีคุณก็แอบร้องไห้และไม่อยากไปโรงเรียน ลักษณะแบบนี้ทางจิตวิทยาอาจเรียกว่า คุณขาด “การตระหนักรู้ในตัวเอง” (self awareness) หรือจะให้พูดง่ายๆคือคุณขาดความมั่นใจ คุณมองไปทางไหนคุณก็ไม่รู้ว่าคุณต้องทำตัวยังไง

ในทางจิตวิทยาก็มีการทดลองเพื่อพิสูจน์เรื่องเหล่านี้และพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร “การยอมรับทางสังคม” (social acceptance) ส่งผลต่อ “การตระหนักรู้ในตนเอง” (self awarness) อย่างมีนัยสำคัญ และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ไม่ว่าคุณจะมีบุคคลิกภาพอย่างไร ไม่ว่าคุณจะเป็นชอบคบผู้คน (extrovert) คุณเป็นคนเก็บตัว (introvert) คณเป็นมุ่งมั่นตั้งใจ (concientiousness) คุณก็ไม่สามารถหลบหลีกกฎข้อนี้ได้ ความมั่นใจของคุณยังขึ้นกับ “การยอมรับทางสังคม” อยู่ดี หรืออาจจะสรุปง่ายๆว่าทุกคนต้องการการยอมรับจากผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองดำรงชีวิตต่อไปได้ด้วยความมั่นใจว่าตัวเองมีคุณค่า

ทุกคนล้วนต้องการการยอมรับทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศไหน ประกอบอาชีพอะไร ฐานะเป็นอย่างไร ยากดีมีจนขนาดไหน ทุกคนก็อยากให้คนอื่นเห็นคุณค่าและยอมรับในตัวเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเพียงหน่วยเล็กๆของสังคมที่อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร เพราะนี่เป็นความต้องการอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ (ตามหลักทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้นของ Maslow) นอกจากเรื่องของปากท้องแล้ว การยอมรับก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามีกำลังใจ มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตต่อไปข้างหน้าได้

เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนต่างก็มีความสำคัญต่อสังคม แต่จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ลองคิดดูนะ ถ้าสังคมนี้ขาดหน่วยใดในสังคมไป สังคมเราจะเป็นอย่างไร ถ้าการก่อสร้างไม่มีคนงานมาช่วยทำ ถ้าเกิดโรงงานไม่มีหนุ่มสาวโรงงาน และถ้าสักวันหนึ่งเราไม่มีคนช่วยทำความสะอาดถนน คุณคิดว่าสังคมนี้จะเป็นอย่างไรละ

ทุกคนล้วนสำคัญ “การให้การยอมรับ” และ “การเคารพกัน” ในหน้าที่ของแต่ละคน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สังคมนี้ขับเคลือนต่อไปได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากโดนดูถูก ไม่มีใครหรอกที่อยากโดนเหยียด คุณลองคิดดูสิ ถ้าคุณโดนคนอื่นเหยียดความเป็นตัวคุณแล้วคุณจะรู้สึกอย่างไร…..

ขอแสดงความยินดีกับชาวรักร่วมเพศทุกๆคน พวกคุณแสดงให้เห็นถึงพลังในการที่จะยืนหยัดต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองอย่างชัดเจน เพื่อให้สังคมยอมรับในตัวพวกคุณมาโดยตลอด และในวันนี้การต่อสู้อันยาวนานของพวกคุณได้จบสิ้นลงแล้ว สิทธิที่คุณควรจะได้รับในวันนี้สิทธินั้นได้เกิดขึ้นจากความพยายามของพวกคุณแล้ว‪#‎celebratepride‬ ‪#‎lovewin‬

ไม่มีวันหรอกที่คนบนโลกนี้จะเท่ากัน แต่ต้องมีสักวันหนึ่งที่คนบนโลกต้องเท่าเทียม

…. เพราะทุกคนล้วนต้องการที่ยืน

—– เนดะ

Reference:
1) Leary, Mark R.; Cottrell, Catherine A.; Phillips, Misha (2001). Deconfounding the effects of dominance and social acceptance on self-esteem. Journal of Personality and Social Psychology, Vol 81(5), Nov 2001, 898-909.
2) Maslow, A.H. (1943). A theory of human motivation. Psychological Review 50 (4) 370–96.

เรียนอะสบายสุดแล้ว

commencement2

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่น่ายินดี อีกข่วงหนึ่งของชีวิตหลายๆคน เพราะหลายๆคนได้เรียนจบกันอย่างเป็นทางการ และเริ่มเข้าฤดูของการรับปริญญาแล้ว

ชีวิตของเหล่าบัณฑิตที่จบในปีนี้ก็จำเป็นจะต้องเลือกเส้นทางที่มีให้เลือกมากกว่าเดิม ผมว่าการเรียนจบปริญญาตรีสำหรับวัยรุ่นไทยเป็นช่วงชีวิตการตัดสินใจที่ถือว่ายากมากทีเดียว เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่เราตัดสินใจแบบไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ตายตัวอย่างแต่ก่อน ที่ถ้าจบ ม.ต้น ก็ต่อ ม.ปลาย พอจบม. ปลาย ถ้าสอบติดก็เรียน สอบไม่ติดก็พยายามเข้ามหาลัยเอกชน ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกที่แปลกหรือแหวกแนวอะไรมาก

แต่พอมาเป็นจุดที่เราเรียนจบปริญญาตรี เรามีทางเลือกมากขึ้นยิ่งยุคสมัยปัจจุบันด้วยเนี่ย ตัวเลือกยิ่งมากเลยแหละ บางคนเลือกจะทำงานในสายที่เรียนมา บางคนเลือกที่จะไปเรียนต่อในอีกสายหนึ่ง บางคนเลือกที่จะทำงานในบริษัท บางคนก็เลือกที่จะทำธุรกิจของตัวเอง และบางคนก็เลือกที่จะหยุดพักเพื่อค้นหาตัวเอง ไม่มีตัวเลือกไหนถูก ตัวเลือกไหนผิดอีกต่อไป สังคมในวันนี้โดยส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับได้ทุกตัวเลือก (ไม่เหมือนตอน ม.ต้น ที่จะขึ้น ม.ปลาย และสังคมบอกเราว่า แกต้องเลือกสายวิทย์นะ เข้าใจไหม) อยู่ที่ว่าตัวเลือกไหนจะเหมาะกับใครและใครจะมุ่งมั่นในตัวเลือกนั้นได้ดีกว่ากันก็เท่านั้นเอง ทุกทางเลือกล้วนประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น

พอพูดถึงเรื่องการประสบความสำเร็จ ก็ทำให้คิดเรื่องหนึ่งขึ้นมาว่า เอ๊ะแล้วอะไรหละที่จะเป็นตัวทำนายความสำเร็จของคนเราได้ ความสำเร็จจะเกิดกับเฉพาะคนฉลาดมี IQ สุงๆอย่างเดียวหรอ จะว่าไปก็ไม่ใช่ บางคนไม่่ได้มี IQ สูงมากแต่ก็ประสบความสำเร็จในการทำงาน ทำงานได้ดีมีผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด เราก็ได้เห็นอยู่ถมไป แล้วอะไรหละที่ทำนายความสำเร็จ

นักจิตวิทยาหลายท่านก็สงสัยเหมือนเราๆนั่นแหละว่าอะไรกันนะเป็นตัวที่จะทำนายความสำเร็จได้ และเกิดการทดลองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวัด IQ EQ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับประสิทธิภาพในการทำงาน (Job performance) จากงานวิจัยหลายชึ้นพบว่า มีลักษณะนิสัย (trait) แบบหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากกับประสิทธิภาพในการทำงานก็คือ การสำนึกผิดชอบ (conscientiousness) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลิกภาพ 5 ด้านใหญ่ (Big five) และหมายถึง การที่รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องทำอะไร มีความอดทน รับผิดชอบ มีการเรียงลำดับความสำคัญในส่ิงต่างๆ และมีระดับการควบคุมตนเองที่สูงที่จะสามารถกำหนดพฤติกรรมของตัวเองได้

และนักจิตวิทยาหลายคนก็ได้ให้เหตุผลว่า บุคคลที่มีการสำนึกผิดชอบสูง มักจะประสบความสำเร็จเพราะว่า เป็นคนที่รู้จักวางแผน (well-organized) และมักมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง อีกทั้งยังมีความอดทนมากพอที่จะบังคับพฤติกรรมตัวเองให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ จากตรงนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ถ้าใครมีพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน

ตังนั้นจึงอยากจะฝากถึงบัณฑิตทุกคนที่กำลังเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง บางคนอาจจะเลือกได้แล้ว บางคนอาจจะยังคิดที่จะเลือกอยู่ ก็ขอให้คิดวิเคราะห์ให้ดี และเมื่อเลือกเส้นทางเดินของตัวเองแล้ว ไม่ว่าทางเลือกไหนก็จงมีการสำนึกผิดชอบ (conscientiousness) มุ่งมั่นตั้งใจบากบั่นและวางแผน เพื่อให้เราประสบความสำเร็จในทุกๆเส้นทางที่เราเลือกเดินครับ

สุดท้ายขอฝากบทกลอนบทนี้ให้แก่บัณฑิตทุกท่านและหวังว่าทุกๆคนจะมีสามารถผ่าฟันอุปสรรคในโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้ไปให้ได้….

“อยากจะพูดบอกกล่าวความยินดี
ถึงน้องที่เรียนจบแล้วในปีนี้
อุตส่าห์เรียนตรากตรำมาหลายปี
เวลานี้เป็นบัณฑิตน่าภูมิใจ

จงเติบใหญ่ต่อไปในภายหน้า
พร้อมความกล้าเผชิญกับทุกสิ่ง
ในชีวิตตอนนี้คือเรื่องจริง
อย่าหยุดนิ่งก้าวเดินอย่าท้อถอย

เพราะความจริงชีวิตเพิ่งเริ่มต้น
ยังไม่พ้นต้องเจอกับปัญหา
ทั้งเรื่องคนเรื่องงานมากนานา
อีกวาจาเดียดฉันท์และนินทา

เพราะชีวิตบนโลกจริงนั้นไม่ง่าย
ต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจทุกวี่วัน
แต่อย่าท้อจงสู้จงฝ่าฟัน
เพราะความฝันยังรออยู่ที่บั้นปลาย”

ยินดีกับบัณฑิตทุกคนและขอให้ทุกคนสมหวังกับทางที่ตัวเองเลือกเดิน

—- เนดะ (ดัดแปลงกลอนจากฉบับที่โฟสเมื่อ เมษายน 2555)

Reference:
Timothy A. Judge*, Chad A. Higgins, Carl J. Thoresen andMurray R. Barrick. THE BIG FIVE PERSONALITY TRAITS, GENERAL MENTAL ABILITY, AND CAREER SUCCESS ACROSS THE LIFE SPAN. Personnel Psychology. Volume 52, Issue 3, pages 621–652

เรามาถึงจุดนี้กันได้ไงวะ

How_do_we

เรามาถึงจุดนี้ได้ไงวะ

จุดที่เราแม่งอยากลดความอ้วนแต่กินไม่เลิก แล้วยังมีหน้าบอกอีกว่า อ้วนแล้วกินอะไรก็ได้…… จะผอมไหมชาตินี้

หรือจุดที่เราบอกว่าเบื่องานจะเป็นจะตายแต่ก็นั่งทำงานงกๆ แล้วก็บอกว่าเออจริงๆงานนี้มันก็ดีนะ….. อ้าวตกลงมึงเบื่อจริงปะเนี่ย

ผมมีคำตอบให้ครับว่าเรามาถึงจุดนี้ยังได้ยังไง?

เรื่องที่พูดไปเมื่อกี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์เราทุกคนแหละครับ
เชื่อเลยว่าทุกท่านคงเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ความคิดกับส่ิงที่ตัวเองทำไม่ตรงกันอยู่บ่อยๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆอีกอย่าง เช่น สาวๆเวลาไปช๊อปปิ้งซื้อกระเป๋าสักใบ

ความเชื่อในหัวของสาวนักช๊อป: กระเป๋าซื้อไม่ต้องแแพงหรอกเอาแค่พอใส่ของได้ก็พอละ เอาไรมากมาย เงินทองมันหายากนะเว้ยเฮ้ย

พฤติกรรมจริงของสาวนักช๊อป: เห็นกระเป๋าหลุยส์รุ่นใหม่ในเวบหิ้วมาจากยุโรปราคาถูกกว่าเมืองไทย….. กดซื้อแบบไม่ลังเล – -”

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้นั้น ทางจิตวิทยาเราเรียกว่า ความไม่คล้องจองของปัญญา หรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Cognitive dissonance” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ความไม่พึงพอใจซึ่งเกิดพฤติกรรมบางอย่างไม่ตรงกับกับเจตคติ (attitude) ของบุคคลนั้น ซึ่งสภาวะนี้จะก่อให้เกิดความเครียด ความไม่สบายใจ และความอึดอัด

ดังนั้นแล้วตามธรรมชาติของมนุษย์เราที่ไม่ชอบความอึดอัดและความไม่สบายใจ จึงพยายามจะหาวิธีการต่างๆที่จะทำให้เกิดความคล้องจองทางปัญญา (Cognitive consonance)

และเนื่องจากกระบวนการที่เป็นกระบวนการภายในบุคคล ดังนั้นการนำมาซึ่งความคล้องจองจึงต้องเกิดจากการปรับเปลี่ยนที่ตัวบุคคลเป็นหลักโดยจะทำได้ 3 วิธี คือ
1) เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้สอดคล้องกับเจตคติ <แต่แอบยากนะ> (Change behavior)
2) เปลี่ยนเจตคติของตนเอง <ง่ายมากเข้าข้างตัวเองไป> (Change attitude)
3) พยายามมองว่าความไม่คล้องจองนี้เป็นเรื่องเล็กในชีวิต <ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่เลย อย่าซีเรียส> (Trivialize dissonance)

จะยกกรณีศึกษาที่คลาสิกมากในยุคนี้ให้ดูจะได้เข้าใจกันมากขึ้น

เหตุการณ์ศึกษา “อยากลดความอ้วน”

Attitude: ช่วงนี้อ้วนมากไม่ไหวละ ต้องลดความอ้วนละ จะไม่กินขนมหวานตอนบ่าย จะไปวิ่งอาทิตย์ละ 3 วัน จะงดแป้งมื้อเย็น คราวนี้เอาจริงนะเว้ย สู้ตาย!!!!

Behavior: เฮ้ย…วันนี้ไม่ไปวิ่งละ ไปหาไรกินดีกว่า วันนี้เบื่อๆเหนี่อยๆ (เป็นแบบนี้ตลอดสองอาทิตย์)

แล้วก็ไปจัดข้าวเย็นมื้อหนัก สักพักก็เกิดฉุกคิดขึ้นได้ว่านี่เรากำลังลดความอ้วนอยู่นิหว่า…..เวรละ…..เกิดความไม่สบายใจขึ้นเนื่องจากเกิดความไม่คล้องจองกัน (cognitive dissonance)

ดังนั้นจึงต้องเกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อจะลดความไม่สบายใจ โดยมีวิธีการก็จะมีดังนี้
1) Change behavior: หลังจากวันนั้น ก็เกิดความรู้สึกผิดและทำตามแผนที่วางไว้ไปวิ่งอาทิตย์ละ 3 วัน งดแป้งมื้อเย็น และลดขนม
2) Change attitude: จริงๆตอนนี้เราก็ไม่ได้อ้วนมากนะเว้ย ออกจะมีเนื้อมีหนังกำลังดีเป็นที่ต้องการ <เออะ…. มโนละ>
3) Trivialize dissonance: เรื่องอ้วน เรื่องน้ำหนัก เรื่องเล็ก ไม่เห็นต้องเอามาใส่ใจให้เป็นประเด็นเลยนินา เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

จะเห็นได้ว่าวิธีการแรกนั้นทำได้ยาก คือถ้าทำได้มันคงทำได้มานานละ ไม่น่าจะต้องรอกว่าสองอาทิตย์ ส่วนวิธีการที่สามบางครั้ง เราก็ไม่อาจจะตัดหรือปลงกับเรื่องนั้นได้เพราะมันก็ยังคงเป็นเรื่องที่วนเวียนในหัวเราอยู่ ดังนั้นโดยปกติมนุษย์เราก็เลยเลือกที่จะเปลี่ยนเจตคติหรือความคิดของตนเอง (หลอกตัวเอง) ให้สอดคล้องไปกับพฤติกรรมที่ตนเองทำเพื่อก่อให้เกิดความสบายใจ ทั้งที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สุดควรจะเป็นวิธีการแรกนะในกรณีนี้

ซึ่งในทางจิตวิทยาเองก็มีทำการวิจัยในเรื่องนี้โดยผู้ที่ทำการคิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมาก็คือ Festinger โดย Festinger ได้ทำการวิจัยโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำดังนี้

1) ให้หมุนจุกไม้ซ้ำเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือว่าง่ายๆคืองานน่าเบื่อโคดๆ ทำซ้ำๆหมุนไปหมุนมา
2) หลังจากนั้นผู้ทำการทดลองจะแบ่งผู้ร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม
– กลุ่มแรกผู้ทำการทลองเข้ามาบอกกับผู้เข้าร่วมการทดลองว่า จะให้เงิน $1 เพื่อให้ออกไปโกหกคนที่นั่งรอเข้าห้องทดลองอยู่ว่า “งานที่ให้ทำแม่งโคดสนุก”
– อีกกลุ่มนึงผู้ทำการทดลองบอกว่าจะให้เงิน $20 โดยให้โกหกแบบเดียวกัน

3) หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองที่โกหกเสร็จแล้วก็จะนำมาถูกประเมินว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับงานที่ได้ทำไป ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเงิน $1 ให้ไปโกหกประเมินให้งานที่พวกเขาทำมีความสนุก มากกว่าผู้ที่ได้รับเงิน $20
<นี่แม่งอะไรกันวะเนี่ย…… ดูขัดแย้งกับสิ่งที่คิด ที่คิดไว้คนที่ได้เงินเยอะน่าจะตอบว่าสนุกมากกว่าเพราะได้ตังเยอะ>

Festinger ให้เหตุผลว่าที่เป็นแบบนี้เนื่องจากคนที่ได้รับ $1 นั้นเกิด cognitive dissonance ขึ้นเพราะว่า พฤติกรรมของเขานั้นคือต้องไปบอกคนอื่นว่า งานมันสนุก โดยที่มีเจตคติว่าที่พูดแบบนี้เพราะผู้ทำการทดลองให้เงิน $1 ซึ่งตรงนี้นั้นจะขัดแย้งเพราะเงิน $1 คือน้อยมากอะจะเอาไปเพื่อไปโกหกคนอื่นทำไมกันเสียเวลา ดังนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองจึงเกิดการเปลี่ยนเจตคติของตนเองแทนว่าจริงๆแล้วงานมันก็สนุกดีนะ

ในขณะที่คนที่ได้รับ $20 นั้นมีเหตุผลมากพอที่จะแสดงพฤติกรรมการโกหก ดังนั้นพอประะเมินตัวงานจึงประเมินตามความจริงว่างานแม่งน่าเบื่อมากๆ โดยจากงานวิจัยนี้จะเห็นได้ว่าเจตคติของคนเรานั้นสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยพฤติกรรมของเรา ดังนั้นการที่เราเลือกที่จะปรับเปลี่ยนแค่เจตคติเพียง อาจจะทำให้สุดท้ายเราอาจจะมีเจตคติในสิ่งที่ผิดไปจากความจริงก็เป็นไปได้ อย่างเช่น งานหมุนจุกไม้ที่น่าเบื่อกลายเป็นงานที่สนุกซะได้

ที่พูดมานี้ไม่ได้จะเป็นการบอกว่า การที่คนเราเลือกวิธีการที่ง่ายอย่างการเปลี่ยนเจตคติ (หลอกตัวเอง) เวลาเจอความไม่คล้องจองกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีเพราะว่าจากงานวิจัยหลายงานวิจัย รวมไปถึงการบำบัดผู้ป่วยในหลายๆครั้งการใช้วิธีการเปลี่ยนเจตคติในการช่วยรักษา ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ที่วัยรุ่นทุกท่านน่าจะเคยประสบกันมาบ้างนะครับ

เหตุการณ์ศึกษา “เขายังรักฉันอยู่”

Attitude: เขายังรักฉันอยู่เว้ย พวกแกแม่งไม่เข้าใจหรอก เลิกกันก็จริงแต่เขายังไม่มีใครเลยแสดงว่าเขายังรักฉันอยู่เว้ย เชื่อฉันดิ

Behavior: Line ไปหาเขาไม่ตอบ โทรไปเขารีบตัดบทบอกว่าเขาอ่านหนังสืออยู่

เหตุการณ์แบบนี้ถ้าจัดการด้วยวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมก็คงจะไม่เวิร์กเพราะยิ่งจะทำให้ตัวเองเจ็บเปล่า แต่ว่าถ้าจะปรับโดยมองให้เป็นเรื่องเล็กก็อาจจะยากจนเกินไปในตอนนั้น (ฟูมฟาย ขนาดนี้จะให้มองเป็นเรื่องเล็กได้ไงฟระ…) ดังนั้นการปรับตัวที่ดีที่สุดก็คือการที่ลองปรับเจตคติของตนเองให้สอดคล้องไปกับพฤติกรรม เช่น เฮ้ย จริงๆแล้วเขาแม่งไม่รักเราแล้วหวะไม่งั้นถาม line แม่งคงตอบมาละ ไม่ปล่อยให้รอนานแบบนี้หรอก

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อลด cognitive dissonance นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป แต่ว่าจะต้องดูถึงสถานการณ์ ว่าสถานการณ์ใดควรใช้การปรับเปลี่ยนอย่างไรจึงจะเหมาะสมและลดความอึดอัดใจของเราได้ดีที่สุด

พูดแบบนี้อาจจะงงกันว่าแล้วเรามีขั้นตอนอย่างไรในการดูว่าการปรับตนเองแบบไหนเหมาะกับสถานการณ์แบบไหน จึงอยากจะลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยประสบมา บางคนอาจจะยังตกอยู่ในเหตุการณ์นี้ก็เป็นได้ (รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย)

เหตุการณ์ศึกษา “มนุษย์เบื่องาน”

Attitude: งานที่ทำแม่งน่าเบื่อหวะ ไม่ชอบเลย แม่งโคดไม่ใช่ตัวตน เบื่อโว้ย
Behavior: มาเข้างานทุกวัน ทำงานหนัก ทำงานเกินเวลา……

ก่อนอื่นเราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าเราสามารถปรับพฤติกรรม (Change behavior) ของเราให้สอดคล้องกับความคิดเราได้ไหม เช่น งานน่าเบื่อ งานมันแย่ แล้วเราสามารถลาออกจากงานได้ไหม เราสามารถย้ายตำแหน่งได้ไหม เราขอเปลี่ยนแผนกได้ไหม หรือ เราสามารถทำให้งานกลายเป็นงานที่น่าทำขึ้นได้ไหม ถ้าเราทำไม่ได้เนื่องจากมีเหตุผลอื่นๆเช่น ต้องใช้เงินดูแลครอบครัว งานนี้ให้ผลตอบแทนเราดีสุดแล้ว

เราก็ต้องมาวิเคราะห์ต่อไปว่าแล้วเรามองให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กในชีวิตได้ไหมละ (Trivialize dissonance) เราบอกกับตัวเองว่า งานแม่งเรื่องเล็กของชีวิต เรื่องชีวิตคู่ เรื่องแต่งงาน เรื่องเลี้ยงลูก เรื่องสุขภาพ เรื่องดูแลครอบครัวสิ ถึงจะเรียกว่าเรื่องใหญ่ คือเราพยายามจะละเลยส่วนนี้ออกไปจากชีวิตเรา แต่ถ้าเราไม่สามารถคิดเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กในชีวิตได้ เช่นว่า โหยวันนึงทำงานอย่างต่ำ 8 ชั่วโมงมันหนึ่งในสามของวันละนะ อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยของชีวิตแล้ว เป็นเรื่องใหญ่ยังไงก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็มาถึงจุดสุดท้ายคือ เราต้องปรับเจตคติ (Change attitude) ซึ่งกล่าวไปแล้วว่าเป็นวิธีที่ทำง่ายที่สุดแล้วในบรรดาวิธีการปรับทั้งหมด โดยการปรับเจตคติอาจจะปรับโดยเลือกเอาด้านที่ดีบางด้านของสิ่งที่สอดคล้องกับพฤติกรรมเรามาเป็นเจตคติของเรา เช่น งานที่ทำอยู่นี่ ทำงานกับคนดีๆทั้งนั้นเลยนะ ถ้าไปทำที่อื่นจะเจอคนดีๆแบบนี้ไหมเนี่ย หรือ งานที่ทำอยู่นี่มันช่วยเหลือประเทศชาติมากเลยนะ เป็นงานโคดเสียสละอะ

เมื่อเราลองไล่ขั้นตอนตามนี้แล้วก็จะพบว่าวิธีการปรับไหนที่เหมาะกับเราและเหมาะกับสถานการณ์เหล่านั้นด้วย

จากที่เห็นกันก็จะพบว่า cognitive dissonance ล้วนเกิดขึ้นกับเราเป็นธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น ควรพับผ้าห่มไหมหลังตื่นนอน (เคยเห็นใน pantip อ่านแล้วขำดี) จนไปถึงเรื่องที่สำคัญต่างๆในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก การงาน ครอบครัว แน่นอนเลยว่ามันเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคงไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะทำทุกอย่างได้ตามที่ตัวเองคิดหรือตามที่ตัวเองเชื่อได้หมดหรอก ดังนั้นแล้วสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นการกล้าที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อลดความไม่ลงรอยเหล่านั้นนะ

เพราะความไม่สมบูรณ์เป็นธรรมดาของชีวิต ผู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ไม่ใช่ผู้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นผู้เข้าใจและปรับตัวเข้ากับความไม่สมบูรณ์ที่เกิดขึ้นได้ต่างหาก

และแล้วเราก็พากันมาถึงจุดนี้

—— เนดะ

Reference:
– Festinger, L. (1957). A Theory of Cognitive Dissonance. California: Stanford University Press.
– Festinger, L. & Carlsmith, J. M. (1959). Cognitive consequences of forced compliance. Journal of Abnormal and Social Psychology, 58, 203 – 210.
– จรุงกูล บูรพวงศ์ (2011). เอกสารประกอบการสอนวิชา ทฤษฎีและงานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม.

ความรักนักจิตวิทยา

lovetriangle

ช่วงนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนแต่งงาน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน อาจจะเป็นฤกษ์งามยามดี (หรือจริงๆอายุผมมันเยอะ จนควรจะแต่งงานแล้ววะ….เมื่อวานดู facebook เพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่งไปอีกแล้วสองคน) แต่จริงๆผมว่าผมก็ไม่ได้แก่มากหรอกนะ มีพี่ๆ (ป้าๆ) อีกหลายคนที่อายุเยอะกว่าผมยังไม่แต่งเลยก็มี

เข้าเรื่องกันนิดนึง….. พอนึกถึงการแต่งงานก็อดนึกไปถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการแต่งงาน นั่นก็คือ “ความรัก” นั่นเองงงงงงงงงงงง
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยสับสน งุนงง งงงวย คิดไม่ตก ว่า “ความรัก” มันคืออะไรกันแน่ ทำยังไงถึงจะเรียกว่า “ความรัก”
หรือความรักอาจจะเป็นความเสียสละ
หรือความรักอาจจะต้องมีความเข้าใจ
หรือความรักอาจจะเป็นความห่วงใย
หรือความรักจะเป็นตับ ไต ไส้ พุง อย่างที่เพลงเขาบอกกัน

ดังนั้นวันนี้จึงอยากจะมานำเสนอ “ความรัก” ในเชิงจิตวิทยาให้ทุกคนทราบกันบ้าง ว่านักจิตวิทยาที่เขาชอบพูดเรื่องพฤติกรรมต่างๆของคนเนี่ย เขาคิดว่า “ความรัก” มันคืออะไรกัน เพื่อบางคนที่สงสัยว่าเรากำลังมี “ความรัก” หรือป่าวจะได้มั่นใจมากขึ้นว่า “รัก” มันเกิดขึ้นจริง

จริงๆแล้วมีนักจิตวิทยาหลายคนให้ความหมายของความรักไปต่างๆนานา แต่ว่าสุดท้ายแล้วมีนักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อว่า Robert Sternberg ได้รวมรวมทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวกับ “ความรัก” ที่มีหลายคนเคยเสนอเอาไว้ มาวิเคราะห์ รวบรวม ไตร่ตรอง และสังเคราะห์ มาเป็นทฤษฎีใหม่ ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

โดยทฤษฎีนี้ Sternberg ตั้งชื่อได้น่าสนใจทีเดียว ทฤษฎีนี้ชื่อว่าทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular theory of love)

Sternberg บอกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” มีด้วยกัน 3 องค์ประกอบ เปรียบได้กับมุมของสามเหลี่ยมแต่ละมุม ซึ่งได้แก่

1. Intimacy (ความผูกพัน) หมายถึง การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน การที่คนสองคนมีความสนิทสนมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน พูดคุยกันในทุกๆเรื่อง

2. Passion (ความหลงใหล) หมายถึง มีความชอบพอในรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ มีความลุ่มหลงต่อคนนั้น ย้ำคิดย้ำทำคิดวนไปวนมาแต่เรื่องของคนนั้น เรื่องลุ่มหลงนี้เนี่ย หมายรวมไปถึงเรื่องแรงดึงดูดทางเพศด้วยนะ (18+)

3. Commitment (ความมีพันธะสัญญา) หมายถึง การที่เรายอมอุทิศตนเพื่ออีกคนหนึ่งอย่างสุดความสามารถอย่างซื่อสัตย์ และทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้กับคนๆนั้นไว้

จากองค์ประกอบของ “ความรัก” ทั้ง 3 อย่าง ทำให้เราแบ่ง “ความรัก” ได้เป็น 8 ประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนองค์ประกอบของความรักที่มี
ความรักบางประเภทมีเพียง 1 องค์ประกอบ
ความรักบางประเภทมี 2 องค์ประกอบ
ความรักบางประเภทก็มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ

ซึ่งความรักทั้ง 8 ประเภท มีดังนี้

1. Nonlove คือ ความไม่รัก ฟังแล้วดูงงๆ แต่หมายถึงความรักที่ไม่ได้มีองค์ประกอบอะไรเลยใน 3 องค์ประกอบ ก็ลองสังเกตกันนะว่าถ้าตอนนี้คนที่เราคบอยู่ยังไม่มี 3 องค์ประกอบนี้เลย แสดงว่านั่นอาจจะเป็นความไม่รักก็ได้ ใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ แนะนำให้ไปฟังเพลงนิว จิ๋ว “ไม่รัก ไม่ต้องมาแคร์ ไม่ต้องมาดีกับฉัน…..หยุดได้ไหมสักที หากไม่รักก็ปล่อยกันไป”
https://www.youtube.com/watch?v=6eEEfyTYKqY

2. Liking/ Friendship คือ รักแบบเป็นมิตร เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียว คือ ความผูกพัน ก็อารมณ์ประมาณว่าสนิทกันไปไหนมาไหนด้วยกัน คุยกันถูกคอ แต่ได้ชอบอะ ไม่ได้หลงอะ เข้าใจปะ ประโยคคลาสิกที่หลายคนเคยเจอกัน “เราเป็นแค่เพื่อนกันเถอะ” พูดง่ายจังวะ “แล้วหัวใจที่มันผูกพันไปแล้วหละวะ ใครจะรับผิดชอบ…”
https://www.youtube.com/watch?v=rw1BXzZgoPc

3. Empty love คือ รักว่างเปล่า เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ Commitment หรือ ความมีพันธะสัญญา ผมว่าหลายคนคงเคยเจอนะ มันเป็นความรักที่อาจจะเกิดขึ้นมานานแล้ว เราไม่ได้สนิทกันแล้วแหละไม่ค่อยได้เจอกันแหละ เราก็ไม่ได้หลงใหลในรูปร่างหน้าตาอะไรเขา แต่ว่าถ้ามีเรื่องอะไรเดือดร้อนเราก็พร้อมช่วยเขานะ (อารมณ์แฟนเก่าที่ยังพบปะกันอยู่อะ เข้าใจไหมอะ ทำกูอินวะ….. 555) ความรักแบบนี้เกิดได้อีกกรณีคือคนที่อยู่ด้วยกันมานานเหมือนคุณตา คุณยาย ประมาณนั้น เรื่องความหลงใหล ความสนิทสนมก็หายจางไปตามวัย แต่ว่ายังไงก็พร้อมอุทิศและเสียสละตนเองให้กับคนรักของเรานะ……. อยากเห็นเธอตอนแก่จัง มันดีที่เราอยู่ด้วยกัน มันดียังกะฝัน จะอยู่ด้วยกันไปจนแก่ไหม……
https://www.youtube.com/watch?v=7Q2gvon3E2M

4. Infatuated love คือ รักแรกพบ หรือแนวหลงเขาตั้งแต่แรกเห็นนั่นแหละ (Love at the first sight) เหมือนอารมณ์ Romeo & Juliet อะครับ คือเห็นครั้งแรกปุปหลงรักเลย (เคยดูหนังแล้วงงเลยครับ เจอกันครั้งแรก มองผ่านตู้ปลา รักกันละ ผมละเข้าไม่ถึง…) ความรักแบบนี้เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ Passion หรือ ความหลงใหล บางคนอาจจะมองว่า ความรักแบบนี้เป็นบุพเพสันนิวาส หรือ แต่บางคนก็บอกว่ามันอาจเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบก็ได้เห็นเขาหน้าตาดีไงก็เลยหลง แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ใครที่มีความรักแบบนี้ก็ขออวยพรให้เป็นความรักอันเป็นนิรันดร์แบบ Romeo & Juliet ละกัน
https://www.youtube.com/watch?v=uBPFK7CzNOo

5. Romantic love คือ ความรักอันหวานแหวว ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นความรักที่ดีที่สุด แต่จริงๆความรักที่หอมหวานของหลายๆคน ยังขาดสิ่งที่เราเรียกว่าความมีพันธะสัญญา (commitment) การที่จะยอมทำทุกอย่างให้กับอีกฝ่าย การที่พร้อมจะเสียสละและอุทิศตนเพื่อคนที่เรารักในทุกๆเรื่องนั้นมันไม่ใช่เรื่องงานเลยที่จะหาคนแบบนั้น

ความรักแบบนี้นี่แหละที่เป็นต้นเหตุของการหย่าร้างกัน เพราะว่าคิดว่าผูกพันกัน (Intimacy) และ ชอบกัน หลงกัน (Passion) แล้วก็จบละ พออยู่ด้วยกันจริงๆจำเป็นจะต้องมีความเสียสละ ต้องยอมอุทิศบางอย่างที่เป็นสิ่งที่เราชอบไปด้วย ซึ่งบางครั้งหลายๆคู่ก็ไม่สามารถผ่านจุดนี้ได้ก็ต้องเลิกรากันไป

เพราะฉะนั้นเวลาใช้ชีวิตร่วมกันก็ต้องระมัดระวังต้องยอมเสียสละให้กันและกัน และสุดท้ายมีเรื่องอะไรที่อยากให้ปรับอย่ามัวเขินอายครับ บอกกันไปตรงๆเลยครับบางทีการแปลความมันก็ยากเกินกว่าจะเข้าใจ (โดยเฉพาะเพศชายที่มีความสามารถเดาพฤติกรรมเพศหญิงได้ต่ำมาก…. ไม่ต้องมารับหรอกดึกแล้วเดี๋ยวเรียกแท๊กซี่เอง อันนี้แปลว่า มึงรีบมารับเขาเดี๋ยวนี้เลยเข้าใจป่าววะ) ก็พยายามปรับตัวเขาหากันนะครับ “ก่อนที่มันจะสาย”…..
https://www.youtube.com/watch?v=rjuHddQ13rs

6. Companionate love คือ ความรักแบบคู่คิดคู่ใจ คือเป็นความรักที่ประกอบด้วย ความผูกพัน และ ความมีพันธะสัญญา ให้กัน มันเป็นอารมณ์แบบว่า เพื่อนสนิท อะนะ น่าจะเข้าใจกัน คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยอมเสียสละให้กันได้ในทุกๆเรื่อง ยอมทำหลายๆให้กับคนๆนั้น แต่มันยังขาดความหลงใหลต่อกัน หรือพูดง่ายขาดความชอบพอกัน หรืออาจจะชอบพอเขาผ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายไม่ชอบพอด้วยก็จะเกิดความรักแบบนี้ได้ อันนี้พบบ่อยกับผู้ชายหน้าตากลางๆอย่างพวกเราที่แอบรักสาวหน้าตาดี สนิทกับเขา ช่วยเหลือเขาทุกอย่างและสุดท้ายยังไง “เพื่อนสนิท” ไง จบปะ!!! แต่ผมว่าการเป็นเพื่อนสนิทก็ไม่ได้เลยร้ายนะ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันขาดมีแต่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ต่างกับการเป็นแฟนที่พร้อมจะเลิกกันได้ตลอดเวลาเลยนะ…. “รักแบบนี้มีไว้เก็บ….. ไม่ได้มีไว้เสี่ยง”
https://www.youtube.com/watch?v=6Res7tv2peI

7. Fatuous love คือ รักเพ้อเจ้อ เป็นความรักที่มีองค์ประกอบของความหลงใหล และความมีพันธะสัญญา แต่ขาดองค์ประกอบของความผูกพัน จะเป็นอารมณ์ว่าหลงจนโงหัวไม่ขึ้นนั่นเอง หลงแบบพร้อมที่จะอุทิศทุกอย่างให้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ให้ความสนิทสนม หรือมาใกล้ชิดกับเรามากขึ้นเลย ความรักแบบนี้พบบ่อยมาก และมักจะเป็นปัญหากับเหล่าที่ปรึกษาทั้งหลาย เพราะส่วนใหญ่ที่ปรึกษาจะบอกว่า “เลิกเหอะ…คนแบบนี้ไปหลงอะไรนักหนา” คุ้นๆกันไหมประโยคนี้ “จะทำเพื่อมันทำไมนักหนาฟระ” แล้วสุดท้ายเป็นไงละ แม่งไม่เคยเชื่อกันหรอก…….. อันนี้แนะนำที่ปรึกษาว่าให้เพื่อนลองเจ็บนะครับ หลงเขานักก็ควรจะได้รับบทเรียนครับ เชื่อผมเถอะมันเจ็บแต่จบจริงครับ
https://www.youtube.com/watch?v=B6bFLLVbEnM

8. Consummate love คือความรักสมบูรณ์แบบ คือ ความรักที่มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งความผูกพัน ความหลงใหล และความมีพันธะสัญญา เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในอุดมคติของคนเรา อย่างไรก็ตาม Sternberg บอกว่าความรักแบบนี้มีจริง แต่ไม่สามารถรักษาให้มีอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ของที่เกิดถาวรมีเกิดขึ้นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่ว่าแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเดียวของชีวิตการมีรักที่สมบูรณ์ก็ย่อมดีกว่ามีรักแบบอื่นนะ
ว่าแล้วก็หยิบ เพลง “ความรัก” ของ superbaker ขึ้นมาฟัง “เคยไหมบางที่เหนื่อยก็อดทน คิดถึงบางคนจนไม่ยอมพักผ่อน เคยไหมบางเพลงไม่ชอบฟังแต่อยากจะร้องให้ดีสักหน เพราะรู้ว่าใครบางคนที่ชอบเพลงนั้น”
https://www.youtube.com/watch?v=J8LmiUnYG_0

ได้เห็นวิธีการแบ่งประเภทของความรักตามนี้แล้วก็น่าจะเริ่มรู้กันแล้วแหละว่า “เอ๊ะความรักของเรานั้นเป็นแบบไหนกันแน่นะ” แต่ไม่ว่าความรักของคุณจะเป็นแบบไหนในตอนนี้ จะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ตามที

จงจำไว้ว่าประเภทของ “ความรัก” เปลี่ยนไปได้ตามเวลา เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อถอย ถ้าเราเชื่อว่าความรักของเราจะเป็นความรักที่สมบูรณ์ได้ก็จงอย่าลังเลที่จะเติมเต็มความรักให้สมบูรณ์นะครับ

“ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ได้แสดงว่าคุณเหมาะจะมี “ความรัก” เพราะคุณมีความอดทนสูงมาก บางครั้ง “ความรัก” ก็ต้องใช้ความอดทนไม่มีใครหรอกที่จะทำให้เกิดความรักที่สมบูรณ์ในครั้งแรก ความอดทนและการให้อภัยนี่แหละที่จะทำให้เกิดองค์ประกอบของความรักขึ้นมา”

ขอให้โชคดีในความรักทุกคน

เนดะ

Reference:
Sternberg, Robert J. (2004). “A Triangular Theory of Love”. In Reis, H. T.; Rusbult, C. E. Close Relationships. New York: Psychology Press. p. 258.