เราจะสอนเด็กของพวกเรายังไง?

717311OEwDL

วันนี้ผมนอนเอนกายนั่งเล่น facebook ตามภาษาของวันเสาร์ที่ไม่มีงานรัดตัวมากเท่าไหร่ ในขณะที่นั่งเล่นไปก็เห็นหลายๆคนเปลี่ยนรูป profile ใน facebook เป็นรูปตัวเองตอนเด็กๆ หลายคนรูปตอนเด็กก็น่ารักจนรู้สึกว่า “ไม่น่าโตมาเลยนะมึงอะ” หลายคนก็เขียนความประทับใจในวัยเด็กผ่านทาง status

ตอนแรกผมก็ยังไม่ได้เอ๊ะใจอะไรว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนรูป profile แต่พอเห็นหลายคนเข้าเริ่มนึกได้ว่า อ้าวเวร!!! วันนี้มันวันเด็กนี่หว่า!!!! มิน่าเขาถึงมาโชว์รูปตอนเด็กกันเยอะเลย ผมรู้สึกในตอนนั้นว่า “นี่กูแก่มาจนลืมวันเด็กเลยหรอเนี่ย 555”

พอลองมองย้อนกลับไปในวัยเด็กของเรา ก็ทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวต่างๆในวัยเด็กของตัวเอง สุขบ้างทุกข์บ้าง สนุกบ้างร้องไห้บ้าง เบื่อบ้างตื่นเต้นบ้าง และก็ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้ซื้อเองแต่ว่า มีเพื่อนคนนึงซื้อมาแล้วมันก็หยิบให้ผมแล้วบอกว่า “หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับมึง มึงอ่านยัง?” ผมตอบไปว่า “กูไม่เคยเห็นมาก่อนเลยหวะ” มันเลยบอกว่า “งั้นมึงเอาไปอ่าน อ่านเสร็จแล้วค่อยเอามาคืน” จนวันนี้อ่านจบรอบที่สอง ถามว่าผมเอาไปคืนมันหรือยัง แน่นอนครับยังไม่คืน 5555

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “How Children Succeed” ของ Paul Tough เป็นหนังสือที่ต้องบอกตรงๆว่า เป็นหนังสือที่ผมชอบอีกเล่มนึงทีเดียว

ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือ คนแต่งเขาพยายามรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักกับเด็กที่ได้ชื่อว่าด้อยโอกาสทางการศึกษา และทำการรวบรวมเพื่อที่จะหาให้ได้ว่า อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้เด็กคนนึงประสบความสำเร็จและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่ดี และไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสังคม

โดยในตอนต้นเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ผู้แต่งพยายามพูดถึงเรื่อง IQ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในอเมริกาให้ความสำคัญอยู่ในยุคหนึ่ง โดยมีงานวิจัยสนับสนุนมากมายว่า IQ นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ

ถ้ายิ่งมี IQ สูงความรู้ความสามารถเยอะแล้วละก็ ก็มีโอกาสที่เด็กคนนั้นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต หลายๆองค์กรก็เข้าไปปรับเพิ่มความรู้ ความสามารถของเด็กด้อยโอกาสทางด้านนี้ เช่น Teach for America ที่ได้นำเอานักศึกษามหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆเข้าไปช่วยสอนให้กับเด็กด้อยโอกาสเพื่อที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับเด็กด้อยโอกาส

แต่ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดจริงๆหรอที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ?

นี่เป็นคำถามที่อยู่ในหัวของ Paul หลายๆกรณีเราพบว่าเด็กที่ได้รับการดูแลอย่างดีจนมีความรู้มากจนสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยได้ กลับไม่สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ นั่นเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่า คนที่มี IQ มากพอที่จะสอบเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย ทำไมถึงไม่สามารถเรียนจบได้

และทำให้ Paul คิดว่าจะต้องมีสิ่งอื่นๆที่มีผลในการจะทำให้เด็กคนนึงประสบหรือไม่ประสบความสำเร็จอีกหรือไม่?

ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาในโรงเรียนต่างๆและเข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆที่ด้อยโอกาสแต่ละคน ทำให้ Paul ค้นพบบางอย่างว่า จริงๆแล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จนั้น

ไม่ใช่การทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น แต่เป็นการที่ปลูกฝัง “คุณลักษณะ” ต่างๆให้กับเด็ก ซึ่งได้แก่ สำนึกผิดชอบชั่วดี ความมุมานะ ความหยุ่นตัว ความไม่ย่อท้อ และการมองโลกในแง่ดี

แล้วจะปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร การจะปลูกฝังให้เกิดคุณลักษณะเหล่านี้ได้ เราในฐานะผู้ใหญ่จะต้องยอมให้เด็กล้มในก้าวเดินแรกของเขาบ้าง ให้เขารู้จักรับมือกับความล้มเหลวและให้ประสบการณ์สอนเขาให้สร้าง คุณลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับตัวเอง

ดังนั้นสิ่งที่เด็กต้องการที่สุด คือ “ความยากลำบากอันสมวัย” และโอกาสที่จะล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ใหญ่มีหน้าที่ในการคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำเขาอยู่ห่างๆเท่านั้น

ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ผู้แต่งกลับมาย้ำในเรื่องการพัฒนาของเด็กยากจน โดยกล่าวว่าความยากจนจะถูกขจัดไปได้นั้นก็จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน แต่อย่างไรก็ตามตัวเด็กเองก็ต้องพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาและต้องพยายามมากกว่าเด็กในฐานะอื่นๆ อีกเป็นเท่าตัว

ซึ่งแม้ว่ามันจะยากแต่ความแข็งแกร่งและไม่ย่อท้อนี่แหละจะเป็นตัวผลักดันให้เขาสามารถยกระดับตัวเองออกจากความยากจนได้

ส่วนตัวคิดว่าจริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมาะกับแค่นักพัฒนาการศึกษา หรือ ครูอาจารย์ เท่านั้น แต่มันเหมาะกับผู้ใหญ่ทุกคนที่จะต้องคอยดูแลและเลี้ยงเด็กๆ

และแม้ว่าในหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องของเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนและด้อยโอกาสเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆแล้วไม่ว่าครอบครัวของเด็กๆจะมีฐานะเป็นยังไง

จุดหลักสำคัญในการผลักดันให้เด็กประสบความสำเร็จก็คือ ความแข็งแกร่งของลักษณะนิสัยในตัวเด็กคนนั้นที่ถูกปลูกฝังมา ไม่ใช่แค่เพียงการมีความรู้เท่านั้น การมีความรู้เป็นเพียงผลที่เกิดจากลักษณะนิสัยที่แข็งแกร่งของเด็กคนนั้น

ไม่มีคนไหนหรอกที่เกิดมาแล้วเก่งเลยโดยที่ไม่ได้ผ่านการทำงานหนัก
ไม่มีคนไหนหรอกที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้เลยโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามและการต่อต่อสู้
และไม่มีคนไหนหรอกที่จะมีความสุขและดำเนินชีวิตในโลกนี้ได้โดยขาดการมองโลกในแง่ดี

แล้วตอนนี้ลูกๆหลานๆคุณ คุณเลี้ยงเขายังไง…….

Success is not all about intelligence but it is also about diligence.

ด้วยศรัทธาแห่งความพยายาม

—- เนดะ

Reference:
Tough, P. (2012). How Children Succeed. Boston, MA: Houghton Mifflin Harcourt .

Why friend is so important?

ดาวน์โหลด

ผมตื่นขึ้นมาในเช้าวันเสาร์ด้วยอาการง่วงอย่างถึงที่สุด ทันใดนั้นเหลือบไปมองนาฬิกาที่หัวเตียง ก็รีบวิ่งอาบน้ำแต่งตัวแล้วออกจากบ้านทันที

ทำไมนะหรอ?
ก็ไปเรียนภาษาอังกฤษนะสิ สายมากๆแล้วด้วย พอมาถึงห้องเรียนด้วยอาการหืบหอดจากความรีบ ผมนั่งลงตรงที่นั่งประจำ อาจารย์ฝรั่งหันมาแซวที่ผมมาสาย

หลังจากนั้นก็เริ่มสอนต่อ คลาสนี้เป็นคลาส Speaking ซึ่งการสอนของอาจารย์ท่านนี้ก็จะถามคำถามกับนักเรียนในห้องไปเรื่อยๆ คำถามก็มีตั้งแต่ทักทายธรรมดา จนไปถึงคำถามระดับยาก คือ คำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว คำถามที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม และคำถามที่ให้แสดงความคิดเห็น

อาจารย์หันไปถามน้องผู้ชายคนแรกด้วยคำถาม “What do think about capitalism?” ผมนึกในใจ แม่งแอบยากนะ ต่อมาก็ถามหันไปถามน้องผู้หญิงเด็ก ม. 5 ว่า “What is the area of development for Thailand education system?” ผมนึกในใจถ้าวนมาถึงกูนี่ ท่าทางกูต้องเป็นนายกละถึงจะตอบได้

พอคำถามวนมาถึงผม ผมกลั้นหายใจเฮือกใหญ่ ทันใดนั้นอาจารย์ก็ถามผมด้วยคำถาม “Why friend is so important?” ผมตกใจไปประมาณ 2 วินาที เพราะว่าคำถามมันดูเหมือนง่ายกว่าที่คาดไว้แต่พอเริ่มนึกว่าจะตอบอะไรกลับยาก ยากมาก ยากมากจริง

ผมอ้ำอึ้งก่อนตอบไปว่า “Because friend is a part of our life and is our complement. Actually, we can live without friend but we will lose our soul. To be honest, This question is really hard for me.”

ผมหยุดคำตอบไว้แค่นั้น อาจารย์เหมือนจะรู้ว่ามันอาจจะยากสำหรับผม เลยไม่ถามอะไรผมต่อเหมือนกับคนอื่นและหันหน้าไปถามคนอื่นต่อ หลังจากคลาสวันนั้นผมนั่งครุ่นคิดคำถามนี้อยู่นานและก็แอบสงสัยว่า

“จริงๆแล้วทำไมละ ทำไมคนถึงให้ความสำคัญกับเพื่อนถึงขนาดนั้น?”

เพื่อที่จะเข้าใจมากขึ้น ผมพยายามค้นคว้าคำที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ “Friendship” หรือ “ความเป็นเพื่อน” หรือถ้าจะให้สวยกว่านั้นใช้คำว่า “มิตรภาพ”

โดยมิตรภาพนั้นเนี่ยนักจิตวิทยาเขาให้ความหมายว่า “ความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีให้กันซึ่งจะแสดงในรูปความใกล้ชิดสนิทสนมต่อกันและคอยให้ความช่วยเหลือกัน”

ซึ่งโดยความหมายของมิตรภาพเนี่ยจะลึกซิ้งและแนบแน่นกว่าคำว่า “association” หรือ “การคบค้าสมาคม” ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีการติดต่อกันเนื่องจากมีอะไรที่เหมือนกัน โดยยังไม่ได้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันสักเท่าไหร่ แต่ “มิตรภาพ”

ก็ยังเป็นเพียงส่วนย่อยของคำว่า “ความรักที่สมบูรณ์” เพราะความรักจะสมบูรณ์ได้นั้น นอกจากจะต้องประกอบด้วย Intimacy (ความสนิทสนม) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ Friendship แล้ว ยังต้องมี Passion (ความหลงใหล) ซึ่งเป็นแนวหลงรักแบบโรแมนติก และ Commitment (ความผูกพัน) ซึ่งหมายถึงมีสายใยเชื่อมต่อกันทั้งในแง่จิตใจและแง่กฎหมายด้วย

ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่าในทางจิตวิทยาคำว่า “มิตรภาพ” เป็นความสัมพันธ์ของบุคคลที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความสัมพันธ์ที่ดีทีสุด คือ “ความรักที่สมบูรณ์” กับ “การคบค้าสมาคมทั่วไป”

และนี่หรือป่าวที่ทำให้ “มิตรภาพ” ยั่งยืนกว่า “ความรัก” เพราะความซับซ้อนมีน้อยกว่า องค์ประกอบน้อยกว่าจึงอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังในความสมบูรณ์ของความสัมพันธ์นี้น้อยกว่าก็เป็นได้

เราไม่เคยหวังว่าเพื่อนจะต้องมากินข้าวกับเราตลอดเวลา เราไม่เคยหวังดอกไม้จากเพื่อนในโอกาสสำคัญ เราไม่เคยหวังแม้กระทั่งต้องคุยโทรศัพท์กับมันทุกวัน แต่กับความรักเรากับทำอย่างนั้นไม่ได้………

เพราะอะไรนะหรอ?
อาจจะเพราะเราพยายามมองความรักไว้สมบูรณ์เกิดไป เราเลยคาดหวังกับมันมากๆ โดยลืมไปว่าความรักไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ครบทุกองค์ประกอบก็ถือได้ว่าเป็นความรักได้แล้ว แม้อาจจะไม่สมบูรณ์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีคุณค่า

ดังนั้นแล้ว “ความรักที่สมบูรณ์” อาจถือว่าเป็น ความรักในอุดมคติ (ideal love) แต่ “ความรักที่ไม่คาดหวัง” อาจจะเป็น ความรักของจริง (True love) ก็เป็นไปได้

—————————————————————

มาว่ากันต่อในเรื่องมิตรภาพ คำว่า “มิตรภาพ” เองนั้นก็นักจิตวิทยาหลายท่านพยายามแบ่งประเภทของ “มิตรภาพ” ออกเป็นระดับต่างๆตามความสนิทสนมของความสัมพันธ์ แต่ละท่านก็จะแบ่งได้จำนวนประเภทไม่เหมือนกัน บางท่านแบ่งเป็น 7 ประเภท บางท่านแบ่งเป็น 5 ประเภท แต่มีนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งที่แบ่งประเภทของมิตรภาพได้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งมิตรภาพออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ

1) Acquaintance หรือ “เพื่อนเล่น” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประสบการณ์หรือกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน แต่ต่างคนต่างไม่ได้รู้จักกันอย่างจริงจัง เช่น เพื่อนใน facebook, เพื่อนที่ไปวิ่ง เตะบอล เล่นโยคะ ด้วยกัน

2) Casual หรือ “เพื่อนเพื่อน” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกต่อกัน มีการพูดคุยกันสื่อสารต่อกัน แต่จะไม่เปิดเผยอารมณ์ที่แท้จริงต่อกันสักเท่าไหร่ รวมถึงจะไม่เปิดเผยเรื่องที่กระทบจิตใจ หรือ เรื่องสำคัญในชีวิต เช่น เพื่อนในห้องแต่อยู่คนละแกงค์ เพื่อนที่ทำงานกลุ่มด้วยกัน เพื่อนร่วมชมรม

3) Agentic หรือ “เพื่อนสนิท” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอกจากจะมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆแล้ว ก็ยังมีความสนใจในเรื่องต่างๆใกล้เคียงกัน มีค่านิยม lifestyle เป้าหมายต่างๆร่วมกัน มีความสนิทสนมแนบแน่นต่อกันเปิดเผยต่อกันในหลายๆเรื่อง เช่น เพื่อนๆในแกงค์เดียวกัน เพื่อนๆในทีมเดียวกันที่สนิทกัน

4) True หรือ “เพื่อนเท้” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่คล้ายกับ “เพื่อนสนิท” แต่ลึกซึ้งกว่าในแง่ที่จะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน รวมถึงคอยปกป้องซึ่งกันและกัน บางครั้งเราอาจจะเรียกว่า “เพื่อนตาย” ก็ได้ คือพร้อมจะอยู่เคียงข้างกันเสมอไม่ว่าจะเป็นหรือตาย เช่น คู่ทหารที่เป็นบัดดี้กันเวลาออกรบ โดเรมอนกับโนบิตะ เพื่อนสนิทโคตรๆที่ออกตัวปกป้องเสมอไม่ว่าจะทำอะไรผิดพลาดจะทำเลวขนาดไหนก็ตามเหอะ

แล้วทำไมเราต้องมีมิตรภาพด้วยหละ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราตามธรรมชาติไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวคนเดียว เราจำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย และพอความสัมพันธ์เริ่มสนิทแนบแน่นขึ้นก็ทำให้เกิดมิตรภาพขึ้นมา “มิตรภาพ” จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นปกติ

และนอกจากนี้มิตรภาพก็ยังส่งผลกระทบต่อพวกเราทั้งจิตใจและร่ายกายด้วย มีหลายๆงานวิจัยในเชิงจิตวิทยาให้การสนับสนุนว่ามิตรภาพ (Friendship) มีความสัมพันธ์ในแบบผกผันกับความโดดเดี่ยว (loneliness) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกช่วงวัย

โดยเป็นที่รู้กันดีว่าความโดดเดี่ยวมีผลต่อเรื่องความซึมเศร้า (depression) รวมถึงทำให้ขาดความสามารถในการเข้าร่วมสังคม (sociability) ซึ่งสี่งเหล่านี้ส่งผลต่อทั้งสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ

นอกจากนี้ยังมีการทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของมิตรภาพที่มีกับความเครียด (stress) กันอย่างแพร่หลายซึ่งผลการวิจัยค้นพบว่ามิตรภาพมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญ

และก็มีหลายงานวิจัยศึกษาลงไปยังรายละเอียดมากขึ้นทั้งความแตกต่างของเพศและวัย โดยในปี 2002 University of California, Los Angeles (UCLA) ได้มีงานวิจัยซึ่งมีชื่อเสียงอย่างแพร่หลายและสั่นสะเทือนวงการจิตวิทยาในสมัยนั้นอย่างพอตัวเลยทีเดียว คืองานวิจัยที่ค้นพบว่าผู้หญิงจะมีพฤติกรรมใฝ่หามิตรภาพเมื่อตนเองรู้สึกว่าเกิดความเครียด ซึ่งเป็นการฉีกกรอบความรู้แบบเก่าโดยสิ้นเชิง

โดยที่เมื่อก่อนมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่เครียด กดดัน หรือ กลัว มนุษย์จะมีพฤติกรรมเพียงแค่ “หนีจากสิ่งนั้น” หรือไม่ก็ “ต่อสู้กับสิ่งนั้น” (fight or flight response) แต่งาานวิจัยนี้กลับบ่งบอกไปยังพฤติกรรมอื่นและมีการศึกษาไปในแง่ของสารเคมีในร่างกาย

โดยจากงานวิจัยพบว่าระดับฮอร์โมน “Oxytocin” สูงขึ้นอย่างน่าประหลาดในผู้หญิงที่มีความเครียด ซึ่งฮอร์โมนนี้ถูกจัดเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพันและทำให้เกิดพฤติกรรมการใฝ่หามิตรภาพกับผู้หญิงด้วยกัน

จากงานวิจัยนี้ผมเลยไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเวลาเครียดผู้หญิงถึงเรียกเพื่อนไปช๊อปปิ้งหรือนั่งเมาท์มอยกินขนม ในขณะที่ผู้ชายอาจจะแค่ขออยู่คนเดียวในห้องฟังเพลงหรือสูบบุหรี่ ดังนั้นแล้วต่อไปทุกๆท่านไม่ควรจะห้ามผู้หญิงออกไปช๊อปปิ้งหรือเที่ยวกับเพื่อนๆนะครับ เพราะถือเป็นการลดทอนความเครียดได้และจะส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

ในปัจจุบันซึ่งสังคมมนุษย์มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความสุข” (happiness) กันอย่างแพร่หลายเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการสูงสุดของชีวตมนุษย์ การศึกษาวิจัยก็มีทั้งการศึกษาด้านศาสนา ด้านปรัชญา รวมไปถึงการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

ในการศึกษาแต่ละแขนงก็มีการระบุถึงความสำคัญของมิตรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกได้กล่าวว่า มิตรภาพ (friendship) และ ความสัมพันธ์ (relationship) เป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสุข

โดยมีงานวิจัยของ Ed Diener และ Martin Seligman ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก ได้ทำงานวิจัยโดยคัดเอานักศึกษาของ University of Illinois ทั้งหมด 10% ที่ได้คะแนนความสุข (Personal happiness) สูงที่สุดมาทำารศึกษาถึงทัศนคติและพฤติกรรม

และพบว่านักศึกษาที่มีความสุขมากและความซึมเศร้าน้อยจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือ “เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวอย่างแน่นแฟ้น และมักจะอุทิศเวลาให้กับเพื่อนและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ”

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเพิ่มเติมลึกลงไปในแง่คุณภาพของมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ โดยจากงานวิจัยของ Jackson, Soderlind, และ Weiss กล่าวว่าการจะสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด” (close relationship) หรือ “มิตรภาพแท้” (True friendship) ต้องผ่านกระบวนที่เรียกว่า “การเปิดเผยตนเอง” (self-disclosure) ซึ่งหมายถึง ความสมัครใจที่จะเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัว อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนเอง

ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้จะช่วยลดความโดดเดี่ยว (loneliness) และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความสุข นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ Wheeler ที่ศึกษานักเรียนที่มีเพื่อนเยอะและก็ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนๆเหล่านั้นด้วย จากผลการวิจัยพบว่านักเรียนบางคนยังรู้สึกโดดเดี่ยวแม้ว่าจะใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนมาก

Wheeler จึงทำการศึกษาต่อและค้นพบว่านักเรียนที่เพื่อนมากแต่โดดเดี่ยวนั้น ส่วนใหญ่จะพูดคุยกับเพื่อนเฉพาะเรื่่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น การเรียน กีฬา กิจกรรมต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องชีวิตส่วนตัวหรือความรู้สึกมากนักซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยของ Jackson, Soderlind, และ Weiss

ซี่งตอกย้ำว่าคุณภาพของความสัมพันธ์นั้นมีค่ามากกว่าปริมาณของความสัมพันธ์

นอกจากนั้นงานวิจัยของ Brown et al. ยังมีการเพิ่มเติมว่า “ความสุข” นั้นไม่ได้เกิดจากแค่การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เท่านั้น แต่จะเกิดความสุขอย่างสมบูรณ์ได้ต้องมีการให้การสนับสนุนผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า มิตรภาพ ที่สมบูรณ์และจะก่อให้เกิดความสุขได้ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ใส่ใจ คอยดูแลสนับสนุนซึ่งกันและกัน และจะต้องเปิดเผยตนเองต่อกัน

เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็ต้องกลับลองไปทบทวนตนเองแล้วแหละว่าเราให้ความสำคัญกับคุณภาพของ “มิตรภาพ” มากซักแค่ไหนกัน

ส่วนตัวผมคิดว่า “มิตรภาพ” เป็นความสัมพันธ์และบทบาททางสังคมที่แปลกประหลาดที่สุด

เป็นความสัมพ้นธ์ที่จะว่าใกล้ชิดกันทีสุด ก็อาจจะไม่เพราะสู้ความสัมพันธ์ของครอบครัวไม่ได้
จะว่าเป็นความสัมพันธ์แบบตกหลุมรักแบบหัวปักหัวปำอย่างแฟนก็ไม่ใช่ จะเป็นความสัมพันธ์แบบมีความคาดหวังเหมือนในตัวคนนั้นเหมือนครูกับลูกศิษย์ ก็ไม่ใกล้เคียง

มันเป็นความสัมพันธ์แบบงงๆของคนอายุใกล้กันซึ่งบางครั้งก็ต่างกันสุดขั้ว บางครั้งก็ทะเลาะกันบ้าง บางครั้งก็เบื่อกับมันบ้าง บางครั้งเราก็เซ็งแม่งแต่พอมีปัญหาทีไรคนที่เลือกจะปรึกษากลับเป็นพวกมันทุกที

เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องอาศัยเวลาในการอยู่ร่วมกันทุกวัน แต่พอมาเจอหน้ากันหลังจากหายไปหลายปีก็รู้สึกได้ว่าความสัมพันธ์มันช่างคงเดิม

มีคนบอกกับผมว่าเพื่อนก็เหมือนกระจกที่เหมาะเจาะกับตัวเรา ที่คอยสะท้อนบอกสิ่งต่างๆให้กับเราได้ในแบบฉบับของคนที่อายุไล่เลี่ยกัน

คำบอกคำสะท้อนต่างๆอาจจะไม่คมคายหรือถูกต้องตามแบบคนมีประสบการณ์ แต่ก็ดีมากพอที่เราจะเชื่อและทำให้เรารู้สึกดีได้ ความสัมพันธ์ “เพื่อนแท้” นี้ก็อาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่ไม่หอมหวานแต่ยาวนาน ไม่ใกล้ชิดแต่ตราตรึง ไม่สวยงามแต่ไม่เคยเบื่อ ไม่ใหญ่โตแต่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะบรรยาย…………

จำได้ไหมตอนจะจีบใครใหม่ๆ ใครที่คอยให้คำปรึกษาคุณ?
จำได้ไหมตอนอกหักจากรักแรกเนี่ย ใครอยู่กับคุณบ้างตอนนั้น?
จำได้ไหมตอนใกล้สอบ ใครช่วยติวให้คุณอยู่?
จำได้ไหมว่าพอเพื่อนติวก็ยังไม่รู้เรื่องสอบตก ใครที่คอยมาช่วยคุณสอบให้ผ่าน?
จำได้ไหมว่าตอนที่คุณเครียดมากๆ ใครที่คุณเลือกที่จะโทรไปหาเป็นคนแรก?
จำได้ไหมตอนมีปัญหาไม่อยากบอกให้ที่บ้านรู้ ใครที่มันคอยให้คำปรึกษา?
จำได้ไหมตอนที่สนุกที่สุดในชีวิต เฮฮาที่สุดในชีวิต ใครกันที่อยู่ร่วมกับคุณในวันนั้น?
จำได้ไหมตอนที่ไม่มีใครเข้าใจคุณ ทำร้ายคุณ ใครเป็นคนปกป้องคุณไว้?
และ….จำได้ไหมว่า “Why friend is so important?”

แด่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เพื่อน” ทุกคน

————– เนดะ

Reference:
1) Sternberg, Robert J. (2004). “A Triangular Theory of Love”.
2) Miller: Intimate Relationships 6th Edition
3) Taylor, S. E., Klein, L.C., Lewis, B. P., Gruenewald, T. L., Gurung, R. A. R., & Updegraff, J. A., Behaviorial Responses to Stress: Tend and Befriend, Not Fight or Flight”, Psychol Rev, 107(3):41-429.
4) http://www.psychologytoday.com/…/friendship-the-key-happine…
5) Neilsen, C., Bowes, J., The relationship between children’s friendship networks and feelings of loneliness, 1997
6) Archana S., Nishi M., Loneliness, depression and sociability in old age, Ind Psychiatry J. 2009 Jan-Jun; 18(1): 51–55.
7) Gale B., UCLA Study On Friendship Among Women
8) The New Science of Happiness,” Claudia Wallis, Time Magazine, Jan. 09, 2005
9) Jackson, T., Soderlind, A., & Weiss, K. E. (2000). Personallity traits and quality of relationships as predictors of future loneliness among American college students. Social Behavior and Personallity, 28(5), 463-470.

นี่เราเหงาหรือเราหวังมากไป

142367-143532

ช่วงนี้อากาศหนาวกำลังเข้ามา (แม้จะไม่มากหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้…..) สัญลักษณ์ของฤดูหนาวที่เราได้เห็นกันทั่วๆไป ก็คงเป็นมหกรรมการลดราคาครั้งยิ่งใหญ่  กระดาษห่อของขวัญ  ลานเบียร์  ปาร์ตี้  คริสต์มาส ปีใหม่ หรือ ความสุข  แต่ยังมีอีกอย่างที่มักจะมาคู่กับอากาศหนาว ไม่รู้ว่าโดยบังเอิญหรือว่ามันเกี่ยวข้องกันจริง  นั่นก็คือ “ความเหงา”

 

อาจจะเป็นเพราะว่า เพลงหลายๆเพลงในเมืองไทยมีการเชื่อมโยงกับความเหงา ไม่เชื่อลองฮัมเพลงกันดูไหม

“ลมหนาวมาเมื่อไหร่ ใจฉันคงจะเหงา คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร”

“โอ้ความเหงา มันช่างหนาว มันช่างยาวนานและทุกข์ทน”

“ได้ยินเพลงบอกไว้ ลมหนาวมาถึงเมื่อไร มันต้องเหงาในใจตามเนื้อเพลงอยู่เรื่อยไป”

ก็เลยอาจจะทำให้ความเหงา กลายเป็นส่วนหนึ่งของฤดูหนาว (ที่ไม่ค่อยหนาว) ไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

 

ความเหงาคืออะไรกันแน่?

ทีนี้พอพูดถึง “ความเหงา” หลายคนก็อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า “เอ๊ะ ตกลงแล้วความเหงามันคืออะไร?” หลายคนคงเคยเจอกับมันแต่ว่าถ้าจะให้อธิบายว่ามันคืออะไร อาจจะอธิบายยากหน่อย  “มันก็แบบอารมณ์เคว้งๆว่างๆ ประมาณนี้มั้ง…. บอกไม่ถูกเหมือนกัน”

จากตรงนี้ก็เลยมีนักจิตวิทยาให้คำนิยามเกี่ยวกับ “ความเหงา” ไว้น่าสนใจทีเดียว โดยบอกว่า ความเหงา คือ ความขัดแย้งทางสังคม (social deficiency) ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น (social relationship) น้อยกว่าสิ่งที่บุคคลนั้นคาดหวังไว้   หรือให้พูดง่ายๆก็คือ ความรู้สึกที่เราพบการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมคนรอบตัวเรามันน้อยกว่าที่เราอยากได้นั่นเอง

จากตรงนี้ก็พอให้รู้ได้ว่าความเหงานั้นจริงเป็นเรื่องระหว่างสิ่งที่เราหวังไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้นะ ยกตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัวเลย คนโสดบางคนก็บ่นว่าเหงาอย่างนู้นอย่างนี้ คนโสดบางคนก็รู้สึกว่าก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหงาอะไร นั่นก็อาจจะเป็นเพราะแต่ละคนคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน บางคนต้องการใครสักคนที่จะต้องมาคุยด้วยกับเราเวลาดึกๆคุยมุ้งมิ้งหนุงหนิง แต่บางคนอาจจะไม่ได้อยากได้แบบนั้นเพราะมีกิจกรรมหลายๆอย่างทำอยู่เวลาว่างๆก็เลยอาจจะไม่ได้รู้สึกเหงาหรือต้องการใครสักคนเข้ามาในชีวิต

 

แล้วความเหงามันเกิดขึ้นได้ยังไงหละ?

จริงความเหงาเกิดได้จากเหตุการณ์มากมายหลายอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเป็น อกหัก เพื่อนทิ้ง พ่อแม่ไม่ใส่ใจ ไปเรียนต่อ  เป็นคนขี้เหงา เป็นคนชอบเจอเพื่อนๆแต่ไม่ได้ไป ต้องไปเที่ยวคนเดียว เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ดังนั้นเพื่อให้เป็นหมวดหมู่และสอดคล้องกับกระบวนการการเกิดความเหงา

นักจิตวิทยาเลยแบ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหงาออกเป็น 2 อย่าง

  1. ปัจจัยที่กระตุ้นความเหงา (precipitating factor) มีสองเหตุกาณ์ ก็คือ
    • เหตุการณ์ที่ไปเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับ (Change achieved social relation)  ยกตัวอย่างง่ายนะ เช่น เวลาเราต้องไปเรียนเมืองนอกใช้ชีวิตคนเดียวแบบนี้เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ได้รับ หรือ สภาพตอนเราอกหักใหม่ก็เหมือนกันจากที่มีคนคอยคุยกลายเป็นไม่มี ก็เลยทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยได้มันเปลี่ยนไปไงหละ
    • เหตุการณ์ที่ทำให้คนเปลี่ยนความคาดหวังเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (Change desired social relation) ระดับความคาดหวังของคนเราในเรื่องความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามวัย เช่นตอนวัยรุ่นเราอาจจะอยากเจอเพื่อนพบปะเพื่อนฝูง ชอบออกจากบ้านไปเที่ยว พอเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เรากลับอยากจะอยู่ที่บ้านเงียบๆไม่ค่อยอยากเจอผู้คนมากก็เป็นได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่กำหนดระดับความคาดหวังของคนเราก็คือ บรรทัดฐานของสังคมที่เราอยู่ (social norm) เอาง่ายๆเลย เช่น แกงค์สาวๆที่เริ่มมีเพื่อนๆแต่งงานกันบ้างแล้ว เพื่อนๆที่ยังไม่แต่งหรือยังโสดอยู่ (โดยเฉพาะโสดอยู่นี่หนัก) ก็จะเริ่มละ เฮ้ยอยากมีคู่ อยากมีคนดูแล แต่จริงๆแล้วเราก็อยู่คนเดียวมา 20 กว่าปี ก็ไม่เห็นมีอะไรนิ ก็อยู่ได้ปะ (บ่นทำไม)  จากตรงนี้ก็ทำให้เราสร้างความเหงาให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัวเพราะสังคมบอกกับเราว่าเราต้องมีคู่สิ เราต้องมีแฟนสิ เราต้องแต่งงานสิ  หรืออีกตัวอย่างในชีวิตประจำวันเลย (ประสบการณ์ตรงเลยครับ) ตอนไปดูหนังคนเดียว ตอนแรกกูก็ว่ากุไม่ได้เหงาอะไรหรอกนะ แต่พอเพื่อนทักว่า ไปดูหนังคนเดียวไม่เหงาหรอวะ เออกูเหงาขึ้นมาทันทีเลยหวะ……  และก็มีอีกหลายๆเหตุการณ์ที่สังคมพยายามให้เราต้องยึดกับความสัมพันธ์แม้ว่าจริงๆแล้วมันอาจจะไม่จำเป็นก็ตามที
  2. ปัจจัยที่จูงใจให้เกิดความเหงา (predisposing factor) นั่นก็คือ ลักษณะของแต่ละบุคคลนั่นเอง ลองสังเกตดูง่ายๆก็ได้ว่าสถานการณ์เดียวกัน แต่ละคนก็ตอบสนองต่อความเหงาไม่เหมือนกัน มีหลายบลักษณะของบุคคลที่นำมาศึกษาแล้วพบว่ามีผลต่อความเหงา อย่างเช่น คนที่ขี้อายจะถูกพบว่าเป็นคนที่มีความเหงาในระดับสูง (Zimbardo, 1977) หรือ คนที่มีความรู้คุณค่าในตนเองต่ำ (self-esteem) ก็พบว่าเป็นผู้ที่มีความเหงาสูงเช่นกัน

 

จากปัจจัยทั้ง 2 ปัจจัยของสรุปง่ายๆว่า ความเหงาเกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับความสัมพันธ์ที่อยากได้กับที่ได้รับดันไม่เท่ากัน ส่วนลักษณะของแต่ละบุคคลจะเป็นตัวบอกว่า แต่ละคนจะมีโอกาสจะควบคุมความไม่สอดคล้องนี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน บางคนมีคุณลักษณะที่สามารถรับมือกับความเหงาได้ บางคนก็ไม่สามารถรับมือได้ก็จะแสดงความเหงาออกมาในรูปพฤติกรรม เช่น เหม่อลอย  ไม่มีความสุข เบื่อชีวิต ดังที่เราเห็นกัน

 

แล้วเราจะจัดการกับความเหงายังไงดีหละ?

จริงหลายๆคนคงมีวิธีการจัดการกับความเหงาของตัวเองในหลายๆรูปแบบจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในชีวิต ซึ่งนักจิตวิทยาหลายคนก็ได้ทำการแบ่งกลุ่มวิธีการในการจัดการกับความเหงาซึ่งถ้าดูดีๆจะสอดคล้องกับกระบวนการทำให้เกิดความเหงา และได้สรุปวิธีการออกมาเป็น กลยุทธ์ 3 ประเภท

  1. ปรับลดความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (Reduce desired level of social contact) คนเรามีวิธีการมากมายในการปรับลดเรื่องความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะปรับตัวได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น สาวที่ตัวติดกับเพื่อนตลอดเวลา พอเพื่อนไปมีแฟนแล้วติดแฟนไม่มาอยู่กับเรา ตอนแรกเราก็เซ็งผสมเหงา และงอนเพื่อนว่า “มีแฟนแล้วก็งี้ ลืมเพื่อน” แต่พอเวลาผ่านไปความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์เราจะลดลงเราจะเข้าใจโลกมากขึ้นและเริ่มเข้าใจว่าทำไมเพื่อนถึงเป็นแบบนั้น นอกจากนั้นคนเราก็มีการ “หาทำอะไรแก้เหงา” ด้วย ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมที่เราทำคนเดียวแต่ว่ามันเป็นการฆ่าเวลาทำให้เราไม่ได้ไปคิดเรื่องเหงา เช่นอ่านหนังสือ นั่งดูหนังที่ซื้อมา นั่งเล่นกับหมา หรืออีกหลายๆอย่าง ก็จะช่วยทำให้เรารู้สึกสนุกและลืมเรื่องความเหงาไปได้ เลยมักจะมีคนบอกว่า เวลาอกหักแล้วเกิดเหงา ไม่รู้จะทำอะไร เพราะปกติต้องไปกับแฟน แต่ตอนนี้ไม่มีแฟนแล้ว ให้พยายามหากิจกรรมอื่นเข้ามาในชีวิต เพื่อให้เราไม่ไปยึดติดกับความเหงานั้น และทำให้เราปรับลดความหวังไปอีกระดับนึง
  2. เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับให้มากขึ้น (Increase actual level of social contact) หลายคนก็เลือกที่จะแก้เหงาด้วยวิธีนี้ โดยส่วนใหญ่จะทำการสร้างสังคมใหม่ๆ เพื่อจะได้เพื่อนใหม่ อย่างเช่น ไป hang out กับเพื่อนที่ยังไม่ค่อยสนิทกัน ลองไปทำกิจกรรมอาสาต่างๆ  ออกไปทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ เช่น วิ่งมินิมาราธอน ปั่นจักรยาน ดำน้ำ สมัครเรียนปริญญาโทหรือประกาศนียบัตร  เป็นต้น หรือบางคนซึ่งอาจจะไม่ค่อยชอบออกไปเจอผู้คนใหม่ๆเท่าไหร่ ก็อาจจะเพิ่มความสัมพันธ์กับเพื่อนๆที่ตัวเองมีอยู่ เช่น เริ่มคุย line กับ เพื่อนมากขึ้น  มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ตัวเองรู้จักมากขึ้นยอมออกจากบ้านไปเที่ยวกับเพื่อนๆ  คุยโทรศัพท์กับเพื่อนมากขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว
  3. ปรับลดความสำคัญของความแตกต่างระหว่างความสันพันธ์ที่อยากได้กับที่ได้รับให้ลดลง (Minimize the size of important of social deficiency) วิธีการนี้อาจจะยากสักหน่อยแต่ก็เป็นอีกวิธีที่คนเราใช้เพื่อปรับลดความเหงาในจิตใจ บางครั้งเราเลือกกดความรู้สึกเหงาของเราเอาไว้ในจิตใจโดยการแสดงออกที่ทำให้คนอื่นดูว่า เราสดใสร่าเริง มีความสุข ซึ่งแน่นอนว่าก็จะช่วยเราไม่รู้สึกเหงาไปชั่วขณะได้แม้จะไม่ยั่งยืนก็ตาม  อีกอย่างที่คนเรามักจะทำกันก็ คือ การที่เราลดคุณค่าในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมลงและมองว่ามีอีกตั้งหลายเรื่องในชีวิตที่สำคัญไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมเท่านั้น  เช่น บางคนอาจจะปรับลดความเหงา ไม่ค่อยมีเพื่อนด้วยการมองว่าไม่เห็นต้องมีเพื่อนเยอะแยะเลยนิ  เราว่าเรื่องเรียน เรื่องงานสำคัญกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีสังคมเยอะแยะก็ได้นิ  แม้วิธีแบบนี้อาจจะดูว่าคนๆนั้นเป็นคนแปลกๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอีกวิธีการที่คนเราใช้เพื่อจะเอาตัวรอดจากภาวะที่รู้สึกอึดอัดแบบนี้

 

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ความเหงาเป็นเรื่องที่ทุกคนคงต้องเจอกันบ้างแหละในชีวิต เพราะเนื่องจากคนเราเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องพบเจอคนอื่นอยู่ทุกวัน การเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นก็เกิดขึ้นทุกวัน เวลาเปลี่ยนไปคนที่เราเคยสนิทก็อาจจะกลายเป็นไม่สนิทก็ได้ ไหนจะเรื่องกรอบของสังคมอีก หลายๆอย่างทำให้บางครั้งเราก็รู้สึกเหงา เราก็รู้สึกไม่มีใคร เราก็รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ แต่ยังไงก็ตามสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกแย่หรือเหงาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นสำคัญบางครั้ง เราก็อาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราหวังกับสังคมรอบตัวเรามากไปหรือป่าว”

ลองดูไหม ลองออกไปทำกิจกรรมต่างๆคนเดียวดูบ้าง ลองออกไปวิ่งสวนตอนเช้า ลองออกไปดูหนังที่อยากดูคนเดียว ลองออกไปนั่งฟังเพลงชิวๆที่เราชอบ ลองหยิบหนังสือสักเล่มเข้าร้านกาแฟแล้วนั่งอ่านไป ไม่แน่ว่าสุดท้ายคุณอาจจะชอบเวลาคุณใช้ชีวิตคนเดียวด้วยซ้ำไป และการทำแบบนี้จะสร้างให้คุณไม่ยึดติดกับสังคมมากจนเกินไป และแน่นอนว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นเพราะคุณเป็นคนกำหนดมันเอง และไม่ปล่อยให้สังคมมาเป็นตัวกำหนดความสุขของคุณ แต่ให้สังคมเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้น……….

 

บางทีเราอาจจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตคนเดียวก็เป็นไปได้

แด่คนขี้เหงาทุกคน

—- เนดะ

Reference:

Peplau, L. A., & Perlman, D. (1979). Blueprint for a social psychological theory of loneliness. In M. Cook & G. Wilson (Eds.), Love and attraction. Oxford, England: Pergamon, 99-108.

 

จิตวิทยาแห่งความคิดถึง

miss-you

คุณเคยคิดถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตบ้างไหม? คุณเคยอยากย้อนเวลาไปช่วงเวลานั้นไหม? แล้วคุณเคยคิดถึงใครจนแทบจะขาดใจไหม? ผมว่าพวกเราหลายๆคนคงเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต เหตุการณ์ที่มนุษย์เราเรียกมันว่า “ความคิดถึง” ความคิดถึงนั้นอยู่ในทุกๆที่อยู่ในทุกๆช่วงการดำเนินชีวิตของพวกเรา บางครั้งความคิดถึงก็รุนแรงจนทำให้เราอยากเป็นบ้า บางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เรายิ้มและหัวเราะทั้งน้ำตา

“ความคิดถึง” เป็นที่รู้จักกันดีในชีวิตมนุษย์เรามานานแล้ว เพราะเนื่องด้วยมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความผูกพันระหว่างกันและเป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความคิดถึง” อย่างจริงจัง จนกระทั่งในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับความคิดถึง แต่ศึกษาในเชิงผลเสียที่เกิดขึ้นกับความคิดถึง โดยในทางจิตวิทยาคลีนิกเราเรียกความคิดถึงว่า “nostalgia” มีรากศัพท์จากภาษากรีซ โดยเกิดจากการผสมคำคือคำว่า “nosto” แปลว่า “Homecoming” หรือการกลับบ้าน กับความว่า “algos” แปลว่า “pain” หรือความเจ็บปวด

โดยศัพท์นี้เกิดขึ้นจากนักเรียนแพทย์ที่ใช้เรียกอาการวิตกกังวลและความกลัวของมิชันนารีชาวสวิสที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อมาเผยแพร่ศาสนา หรือจะเรียกง่ายๆว่าเป็นอาการ “homesick” แต่เป็นระดับที่รุนแรงจนถึงว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจ ในช่วงแรกๆของการศึกษาความถึงนั้น นักวิจัยแทบทุกคนเน้นศึกษาเกี่ยวกับการรักษาทางคลีนิกและผลเสียที่เกิดจากอารมณ์ความคิดถึง โดยผลกระทบเนื่องจากความคิดถึงได้แก่ การนอนไม่หลับ (insomnia), ความวิตกกังวล (anxiety), ความผิดหวัง (depression) และนักวิจัยหลายท่านถือว่า “nostalgia” เป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง (symptom)

ต่อมาในช่วงปลายคริสศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันจึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับ “nostalgia” หรือความคิดถึงในเชิงบวกและเชิงโรแมนติกมากขึ้น โดยนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้คำนิยามคำว่า “nostalgia” เพิ่มเติมโดยหมายถึงการรำลึกหรือนึกถึงสิ่งต่างๆในอดีตซึ่งในปัจจุบันไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว จากงานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่าในขณะที่เกิดความคิดถึงสิ่งต่างๆในอดีตนั้น มนุษย์เรามันจะนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต และส่งผลให้เกิดรู้สึกถึงความอบอุ่น มีความคิดเชิงบวกเวลาเราเกิดอาการคิดถึง

มีหลายงานวิจัยที่ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ความคิดถึง” (nostalgia) กับ ตัวแปรทางจิตวิทยาต่างๆ ซึ่งปรากฎว่า “ความคิดถึง” นั้นมีผลดีต่อบุคคล เช่น ช่วยลดความเบื่อ (boredom) ถ้าลองนึกดูก็จะพบว่าเวลาเราเบื่อๆ บางครั้งก็มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆในอดีตของเราที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นมีคุณค่า ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราหายเบื่อได้ ความคิดถึงยังมีความสัมพันธ์กับการสนับสนุนทางสังคม (socail support) โดยความคิดถึงจะทำให้เราระลึกได้ว่าเรายังมีคนรอบข้างที่คอยให้การสนับสนุนเราอยู่ ซึ่งการระลึกนี้ก็จะช่วยให้เราคลายความเหงาและความวิตกกังวลลงได้ และบางครั้งก็ช่วยให้เราหายเครียด หดหู่ใจ หรือแม้กระทั่งช่วยให้คนที่กำลังจะตายด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ มีกำลังใจจะลุกขึ้นสู้ต่อไป

โดยส่วนตัวแล้วอยากจะสรุปว่าความคิดถึงนั้นส่งผลดีและผลเสียแก่ตัวบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าระดับความรุนแรงของความคิดถึงนั้นมีมากน้อยเพียงใด ถ้าความรุนแรงของความคิดถึงสูง เป็นแนว “illness” ความคิดถึงนั้นก็ก่อให้เกิดผลเสีย ความคิดถึงนั้นจะทำให้เราซึมเศร้า วิตกกังวลจนถึงกระทั่งเกิดความผิดปกติทางจิตใจและบางครั้งก็นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเราก็เคยได้เห็นกันมาบ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าความรุนแรงของความคิดถึงนั้นมีอย่างพอเหมาะ เป็นความคิดถึงแนว “missing” โรแมนติก ก็ทำให้เกิดผลดี คือทำให้เรารู้สึกว่ามีคนคอยเป็นห่วง คอยให้กำลังใจเราอยู่ แม้ว่าตัวเขานั้นจะไม่ได้อยู่เคียงข้างกับเราก็ตาม และบางครั้งการรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆในอดีตก็ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง และช่วยให้เรามีพลังที่จะต่อสู้และผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้

จะเห็นได้ว่าความคิดถึงนั้นส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลอย่างมากไม่ว่าจะเป็นทั้งผลดีหรือผลเสีย จนในทางการตลาดได้มีการนำเอา “ความคิดถึง” มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการขายผลิตภัณฑ์ เรียกว่า “nostalgic marketing” ซึ่งอาจจะได้เห็นกันบ่อยๆในช่วงนี้ ถ้าทุกท่านลองสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีศิลปินนักร้องในยุคเก่าๆ ออกมาเปิดคอนเสิร์ตรำลึก 10 ปี หรือ 20 ปี ให้คนฟังนั้นหายคิดถึง หรือบางครั้งเราจะเห็นการที่สินค้าต่างๆนำเอาสินค้าเก่าของตัวเองมาปัดฝุ่นใหม่ เพิ่มลูกเล่นให้ทันสมัยขึ้นแล้วนำออกมาขายในตลาด สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เราเรียกว่า “nostalgic marketing” หรือ “การตลาดแห่งความคิดถึง” และเราก็คงได้เห็นกันแล้วว่ายอดขายจากการตลาดแบบนี้สำเร็จอย่างถล่มทลาย ไม่เชื่อลองไปซื้อซีดีคอนเสิร์ต Raptor, Nuvo, ฺBakery มาดูได้….. ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ความคิดถึง” นั้นมีอนุภาพมากมายเพียงใด

มันก็คงจะจริงอย่างที่ว่ากันว่า ความคิดถึงนั้นมีอนุภาพมากๆและอยู่กับเราในทุกๆช่วงของชีวิตจริงๆ ในบางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เราเซ็งและก็อาจจะทำให้เราเศร้าได้ แต่ลองสังเกตดูสิ ทุกครั้งที่เราคิดถึงภาพความทรงจำดีๆมันมักจะกลับมาหาเราอยู่เสมอๆเลยนะ และความทรงจำนั้นก็มักจะทำให้เรามีความสุขแม้แม้ว่าตัวเราจะร้องไห้อยู่ก็ตาม ความคิดถึงก็คงจะเป็น “ความเจ็บปวดที่งดงาม” ประเภทหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้รู้สึกถึงว่าเรายังมีคนรอบข้างเราที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่กับเขาก็ตาม ดังนั้นแล้วจงอย่าหวาดกลัวความคิดถึงและจำไว้ว่า คนที่อยู่ในภาพความทรงจำแห่งความคิดถึงของคุณยังเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ…..

ตัวหนังสือเหล่านี้ร้อยเรียงมาจากความคิดถึงระหว่างเรา ขอบคุณที่ยังคิดถึงกันนะ

ผมก็คิดถึงคุณเหมือนกัน

—— เนดะ

เพราะเราอะไรเราถึงกลัว?

Io_Fear_standard2.jpg

คุณเคยกลัวอะไรบ้างไหม? ผมว่าพวกเราทุกคนจะต้องมีอะไรที่เรากลัวบ้างแหละ บางคนกลัวหมา บางคนกลัวหนู บางคนกลัวจิ้งจกและแทบทุกคนที่ผมรู้จักมักจะกลัวแมลงสาบ (ร้อยละ 80 ของคนไทยกลัวแมลงสาบ 555) นอกจากพวกสัตว์หน้าตาน่ากลัวแล้วบางคนก็กลัวเป็นสิ่งของ บางคนกลัวลูกโป่ง บางคนกลัวส้ม (จะบ้าตายเพื่อนผมเองกลัวส้ม) บางคนก็กลัวเป็นสถานที่ เช่น พวกกลัวความสูง กลัวบ่อน้ำไรงี้

นอกจากความกลัวแบบที่กล่าวไปแล้ว ผมว่าทุกคนน่าจะเคยกลัวนะ “เคยกลัวที่จะทำอะไรบางอย่าง” เอาง่ายๆเลยนะ หนุ่มๆทั้งหลายเคยกลัวที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสาวที่ถูกใจไหมละ (เอาตอนที่ความหน้าด้านและความหน้าม่อของคุณยังไม่ถูกฝึกนะ ผมว่ามันต้องเคยกันบ้างละ) หรือเคยกลัวว่าจะสอบตกป่าวละน่าจะเคยกันนะ ถ้าไม่เคยจะดูเก่งเกินไปละ 555

พูดมาขนาดถึงขนาดนี้หลายๆคนคงน่าจะอยากรู้กันบางแล้วมั้งว่าความกลัวมันเกินจากอะไรวะ? แม่งเกิดมาได้ยังไงเนี่ย วันนี้เลยอยากจะขออาสามาบอกเล่า ที่มาของการเกิดความกลัวให้ฟังกัน

สาเหตุแรกของการเกิดความกลัว ก็คงมาจากการที่เราเคยลองทำอะไรบางอย่างไปแล้ว ปรากฏว่าผลมันไม่เป็นดั่งหวัง พอครั้งต่อมาเราก็เลยไม่กล้าที่จะทำมันอีก ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วเราสามารถอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ ด้วยหลัก Operant Conditioning (การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ) ของ Skinner ซึ่งอธิบายว่า พฤติกรรมของคนเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการ “การเสริมแรง” และพฤติกรรมจะลดลงเมื่อมี “การลงโทษ” หริอ ถ้าจะพูดง่ายๆก็คือ พอทำอะไรไปแล้วไม่ดี โดนลงโทษ ได้ผลลัพธ์ไม่ดี ทำให้เราเสียใจ เราอาจจะเกิดอาการ “เข็ด” เกิดขึ้น แล้วก็ไม่อยากจะทำต่อละ คือแม่งเซ็งเข้าใจปะ ยกตัวอย่างเช่น หนุ่มบางคนไปขอเบอร์สาวเป็นครั้งแรกก็โดนปฏิเสธไม่สนใจใยดี พอเจอปฏิเสธหลายๆครั้งเข้าก็เลยเกิดความวิตกกังวล เกิดความกลัวในการที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสาวที่ชอบ……………เฮ้ยโลกนี้แม่งอยู่ยากจังวะ

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความกลัว ก็คือ การเกิดความวิตกกังวล (Anxiety) หรือพูดง่ายๆก็คือ อาการป๊อดนั่นเอง
พอเกิดความกังวลมากเข้า เนื่องจากได้ยินได้ฟังเรื่องจากคนอื่นจากสื่อ เราก็เริ่มมโนว่าไม่ควรทำหรอกนะ ถ้าเราทำมันต้องแย่แน่เลย แล้วถ้าทำลงไปจะเกิดอะไรขึ้นไหม แล้วสุดท้ายก็ทำให้เรากลัวที่จะทำขึ้นมาในที่สุด ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจจะอธิบายได้โดยหลักการของ Albert Bandura ที่บอกว่า คนเราเรียนรู้และมีพฤติกรรมต่างๆโดยการสังเกตหรือการมีต้นแบบ

คิดง่ายๆว่าเวลาปกติเราจะทำอะไร เราก็มักจะคอยดูก่อนว่า คนอื่นเขาทำไหมเขาทำกันยังไง ทีนี้ปัญหามันก็มาเกิดตรงที่ว่าถ้าเกิดเราเห็นว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน เราก็จะเกิดอาการกลัวขึ้น เริ่มจะป๊อดแล้วอะ ไม่กล้าทำแล้วอะก็เราเห็นคนอื่นเขาไม่ทำกัน

ปัญหาคือแม่งยังไม่ลงมือทำเลยแต่เรียนรู้จากการสังเกตมาแล้วก็คิดถอนใจว่า เราทำไมได้หรอก กลัวที่จะทำหวะ วิตกกังวลที่จะทำหวะ เช่น สาวๆหลายคนคงประสบปัญหามากเมื่ออายุเยอะแล้วยังไม่มีแฟน หลายคนอยากจะเป็นฝ่ายจีบผู้ชายก่อนแต่ไม่กล้า โอ๊ยจะบ้าหรอไปจีบผู้ชายก่อน มันไม่ดีไม่ดีแน่ๆ ผู้ชายที่ไหนเขาจะชอบ เอิ่มป้าอย่าเพิ่งมโน ถ้าป้ามัวคิดแบบนี้อยู่บนคานต่อไปอาจจะถูกแล้วแหละ 5555

จากที่บอกไปแล้วว่า “ความกลัว” เกิดมาจากสาเหตุอะไร ทีนี้นักจิตวิทยาหลายท่านก็เอาไปคิดต่อว่า แล้วเมื่อมันเกิดความกลัวแล้วเนี่ยคนเราทำอย่างไร จากการศึกษาก็สรุปได้ว่า คนเราจะตอบสนองกับความกลัวได้ 2 แบบ คือ “สู้ หรือ หนี” (Fight or Flight response)

สำหรับ “การหนี” ก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติของสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่จะหนีจากความกลัวต่างๆ โดยเราก็จะเก็บความกลัวเอาไว้แล้วก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความกลัว เช่น คนกลัวผีก็พยายามเปิดไฟตลอดเวลา นอนเปิดไฟกูก็เอา คนกลัวหมาเวลาเจอหมาก็ต้องไปแอบหลังคนอื่น (เป็นเวลาได้โชว์แมน ถ้าเจอสาวๆกลัวหมา 555)

ส่วน “การสู้” นั้นเป็นสิ่งที่ทำยากกว่าการหนีมากๆ และจำเป็นจะต้องใช้สิ่งที่เราเรียกว่าความกล้าในการเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเอง แต่ก็ใช่ว่ามันจะยากมากจนทำไม่ได้ แต่ต้องมีเทคนิคและค่อยเป็นค่อยไป ขอย้อนไปเล่าเรื่องสุดคลาสสิกเกี่ยวกับความกลัวของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง คือ Watson

Watson มีความตั้งใจจะศึกษาเรื่องความกลัว เลยพยายามทำให้เด็กชาย Albert กลัวหนูขาวและของสีขาว หลังจากนั้นเขาวางแผนจะทดลองดูดิว่าจะทำให้ Albert หายกลัวหนูได้ไหม แต่เสียดายที่ Albert ย้ายออกไปจากเมืองก่อน (Albert ก็เลยน่าสงสารไป) ดังนั้น Watson ก็ไปตามหาเด็กที่กลัวของสีขาวต่อในเมือง จึงไปเจอ Peter ที่กลัวกระต่ายขาวมาก Watson ก็เลยเอา Peter มาทดลองโดยใช้หลักการแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยขั้นแรกให้ Peter กินไอติม (ล่อด้วยของที่ชอบ) แล้วเอากระต่ายขาวขังกรงมาไว้ใกล้ๆ จากนั้นก็เลื่อนให้เข้าใกล้ Peter มากขึ้นทีละนิด บางครั้งก็ให้เพื่อน Peter มาเล่นกับกระต่ายด้วย เพื่อทำให้ Peter เห็นและมั่นใจว่ากระต่ายไม่ได้น่ากลัวดุร้ายอะไรนิเล่นด้วยได้ หลังจากทำแบบนี้ไปสักพัก การเชื่อมโยงระหว่างกระต่ายกับบางสิ่งที่ Peter กลัวที่อยู่ในความคิด Peter ก็หายไปได้ ทดลองไปมาจนในที่สุดกระต่ายไปวางอยู่บนตัก Peter ได้ Watson เลยพิสูจน์ได้ว่าความกลัวนั้นสามารถทำให้หายไปได้

หรืออาจจะบอกได้ว่าจริงๆแล้ว ถ้าเราได้มีโอกาสลองทำในสิ่งที่เรากลัว โดยค่อยๆทำค่อยๆกล้าที่ละนิด (อย่าทำแบบ extreme เพราะถ้าผลลัพธ์เกิดไม่ดีเราจะไม่มีทางได้ทำเรื่องที่เรากลัวอีกเลย) ค่อยๆลองไปทีละอย่าง พอเราเริ่มออกไปทำ ความกล้าเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งถ้าเราได้เห็นคนอื่นที่ทำในสิ่งที่เรากลัวได้ เราก็ยิ่งจะมั่นใจว่าจริงๆแล้วเราไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย จนในที่สุดความกลัวนั้นก็หายไปในที่สุด

ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกกับทุกคนว่า เราสามารถเอาชนะความกลัวได้ เราเอาชนะความวิตกกังวล และความป๊อดของเราได้ ถ้าเราคิดจะทำมันจริง ถ้าเรากล้าที่จะเปลี่ยนความคิดและเริ่มลองทำ โดยเริ่มลองทำจากเล็กๆก่อน แล้วค่อยๆปรับให้เข้มข้นขึ้นใหญ่ขึ้น พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากคนรอบตัว แค่นี้เราก็สามารถจะเอาชนะความกลัวได้ครับ เชื่อผมเหอะเราทำได้จริงๆ

ความกลัวเป็นสิ่งที่เอาชนะได้ ขอแค่ลองทำทีละน้อย

เนดะ

Reference:
1) B. F. Skinner, About Behaviorism
2) Bandura, A. (1977). Social learning theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.
3) Watson & Rayner, 1920, p. 1

เครียดเว้ยเฮ้ย

man-stressed-at-work-350

มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราเกิดมาต้องพบเจอแน่นอน…………….
อะไรนะหรอ…………… ความตาย……………..
ไม่ใช่นะ………อันนี้เจอก่อนความตายอีก แล้วบางครั้งเจอมันก็เหมือนอยากจะตายเลยหละ
อะไรนะหรอ…………… ความเครียดไง……………. จำเราได้ไหมเพื่อน

ใช่แล้วครับความเครียดเนี่ยแหละที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพบเจอกันอย่างแน่นอน และก็มักจะสร้างปัญหาให้กับพวกเราอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเวลาช่วงสอบตก อกหัก รักคุด ตุ๊ดเมิน หวยแดก แหกด่าน หรืออะไรก็ตามที

ความเครียดนี่มันแย่จริงๆเนอะ ชอบมาเจอเราตอนเราอยู่ในสภาพแย่ๆตลอดเลยจริงไหม……
แต่อย่าเพิ่งปรับปรำความเครียดกันมากจนเกินไปครับ
ลองคิดดูว่าความเครียดบางครั้งก็ช่วยสร้างพลังให้เราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และผ่าฟันปัญหาไปให้ได้

จากตรงนี้เลยมีนักจิตวิทยาที่ชื่อ Selye ได้แบ่งความเครียดออกเป็นสองประเภทง่ายๆ คือ

1) Eustress คือ ความเครียดที่ดี หรือความเครียดที่อยู่ในระดับพอเหมาะ คนที่เครียดเขารู้ว่าจัดการได้แต่ก็รู้สึกเครียดนิดนึงให้มันอินกันสถานการณ์และทำให้มีแรงผลักดัน อารมณ์คล้ายๆ เวลาใกล้สอบ แล้วเรารู้ว่าอ่านจบแหละแต่เราก็ยังรู้สึกเครียดๆหน่อยเพื่อให้เราไม่ชิวเกินไปไง

2) Distress คือ ความเครียดที่แย่ คือ แม่งเครียดเกินไป หรือเครียดบ่อย คนที่เครียดจะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมความเครียดได้เลย คิดง่ายเวลาอกหักร้องไห้ขี้มูกโป่งนั่นแหละใช่เลย

แล้วความเครียดเกิดขึ้นมาได้ยังไงกัน?

จริงๆแล้วมีคนให้คำนิยามมากมายเลยนะความเครียดเนี่ย แต่ถ้าจะเอาที่ฮิตกันก็จะมีทฤษฎีของ Lazarus และ Folkman (1984) โดยทฤษฎีเขาจะมีโมเดลง่ายๆคือ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น –> กระบวนการประเมิน ——> ผลของความเครียด

อธิบายง่ายๆเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
1) เริ่มจากคนเราไปเจอกับสถานการณ์บางอย่างที่เป็นตัวก่อความเครียด (stressor) ก่อน เช่น งานหนัก อกหัก แฟนทิ้ง
2) ต่อมาจะเริ่มประเมินว่าเราจัดการกับมันได้ไหม ถ้าเกิดประเมินแล้วสบายไหวแน่ จัดการได้ ก็ไม่เครียด
3) แต่ถ้าเกิดไม่ไหวหวะรับมือไม่ได้ ก็จะแสดงผลออกมาในรูปความเครียด

แล้วจากโมเดลที่บอกไปทำให้เราเข้าใจเหตุกาณ์ประหลาดอย่างนึงได้ เคยสังเกตไหม ทำไมคนสองคนเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่กลับได้ผลลัพธ์ต่างกัน

จริงๆก็เพราะ เรื่องการประเมินนั่นแหละ มันอยู่ที่ว่าเรามองสถานการณ์ที่เข้ามายังไง บางคนมองแล้วเครียดก็เครียด บางคนกลับมองมันในอีกรูปแบบเช่น มองเป็นความท้าทาย เขาก็ไม่เครียด…. คนเรามันก็ต่างกันตรงนี้

ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือแล้วเราจะจัดการความเครียดยังไงหละ?

เรารู้สาเหตุของความเครียดละว่ามีปัจจัยหลัก 2 อย่าง
1) สิ่งที่ทำให้เราเครียด
2) กระบวนการประเมินของเรา

ดังนั้นจะจัดการความเครียดก็ง่ายมากก็ไปจัดการสองตัวนี้ไงหละ

1) จัดการกับสิ่งที่ทำให้เราเครียด (stressor)

ขั้นตอนที่สำคัญมากในการจัดการกับสิ่งที่เราเครียด…… คือจะต้องรู้ให้ก่อนว่าอะไรทำให้เราเครียด หลายครั้งหลายหนที่บางคนบอกว่าเครียดหวะ แต่พอถามว่าทำไมเครียดกลับไม่สามารถตอบได้ว่าเครียดเพราะอะไร

ซึ่งอันที่จริงแล้วมันมีแหละว่าอะไรเป็นตัวที่ทำให้เราเครียดแต่บางครั้งเราก็แค่ไม่อยากจะยอมรับมันเท่านั้นแหละ หลังจากระบุได้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเครียด วิธีการจัดการกับมันก็คือ อย่าพาตัวเองไปเจอสิ่งนั้นนั่นเอง

เช่น เรารู้ว่าอกหักนี่แหละทำให้เราเครียด การที่เรายังคงพยายามติดต่อคนรักเก่าผ่าน line มองของขวัญที่เขาเคยให้ ไปในที่ที่เคยไปด้วยกันสองคนนั้นก็เป็นการเพิ่มให้เราเกิดความเครียดมากขึ้น

สิ่งที่ควรทำคือหลืกเลี่ยงทุกสิ่งทุกอย่างเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเขา ออกจากบ้านไปพบปะกับผู้คนคุยกับคนอื่น ระบายความอึดอัดให้คนอื่นได้ฟัง……….

2) จัดการที่กระบวนการประเมิน

ซึ่งก็มักจะใช้เมื่อเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงกับตัวก่อความเครียดพวกนี้ได้ เช่น เราเครียดเพราะการบ้านเยอะมากๆ ทำไม่ไหว แต่ถามว่าหลีกเลี่ยงได้ไหม ก็คงไม่ได้

ดังนั้นเราจำเป็นต้องจัดการในกระบวนการประเมินของเรา…….. คือ เปลี่ยนจากที่คิดว่าทำไม่ได้ ให้เป็นทำได้หรือจัดการได้

วิธีการที่ใช้กันอาจจะเป็นการแบ่งย่อยงานเป็นส่วนเล็กๆแล้วค่อยๆทำส่วนเล็กๆไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้วที่คนมันคิดว่าทำไม่ได้หรอกงานนี้ เพราะเรามันมองภาพใหญ่จนเกินไปและสรุปว่าทำไม่ได้หรอก ไม่ทำแล้วเว้ย เครียด สุดท้ายก็ทำไม่เสร็จ

ในขณะที่ถ้าเราค่อยๆจัดการเรื่องให้มันเล็กลงค่อยๆทำไปทีละส่วน เสร็จไปทีละส่วนก็ทำให้เรามีกำลังใจและสามารถทำงานใหญ่ งานเยอะให้เสร็จได้………..

หรืออาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ คือ คิดว่าเรื่องพวกที่ทำให้เครียดเนี่ย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของชีวิต (It is not the end of the world.) ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ “ช่างแม่งเหอะอย่าไปคิดมาก” หลายคนบอกว่าวิธีมันดีจริงหรอ “การช่างแม่ง” เนี่ย

แต่จริงๆแล้วในบางครั้งการปล่อยเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญออกจากชีวิตแล้วใช้ชีวิตต่อไป กลับพบว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญนั้นอาจจะไม่ได้สำคัญจริงๆก็ได้

และการไม่มีมันก็ทำให้มีความเครียดน้อยลงและมีความสุขมากขึ้นด้วย เช่น การไม่มีแฟนจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องแย่ขนาดนั้นหรอกนะ มันก็แค่เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามีแล้วดี แต่จริงๆไม่มีชีวิตเราก็มีความสุขดีนิ……

ทุกคนหลีกหนีความเครียดไม่ได้หรอก…..

อย่างที่รู้กันว่าไม่มีทางหรอกที่เราจะหลีกเลี่ยงกับความเครียด ใครบ้างเกิดมาไม่เคยเครียดเลย ทุกคนก็เจอกับความเครียดทั้งนั้นแหละ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครที่สามารถจัดการกับความเครียดได้ดีกว่ากัน

คนที่จัดการกับมันได้อย่างดี มีการจัดการทั้งตัวก่อความเครียดและกระบวนการคิด ก็สามารถดำรงชีวิตและยืนหยัดอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากของชีวิต แต่คนที่จัดการไม่ได้ก็อาจจะต้องเผชิญกับผลที่ตามมาทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าเราเปรียบ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค คือปัจจัยสี่ทางภายภาพแล้ว การจัดการความเครียดก็คงจะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ทางจิตใจของมนุษย์นั่นแหละ…….

บางทีชีวิตก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก……….
นอกจากมีความสุขไปวันๆก็เป็นได้………..
แต่ความยากของการได้มาซึ่งความสุขในสมัยนี้…….
ก็อาจจะเพราะเรานิยามความสุขของคนไว้สูงมากก็เท่านั้นเอง…………

—- เนดะ

Reference:
Lazarus, R.S., & Folkman, S. (1984). Stress, appraisal, and coping. New York, NY: Springer.
Selye, H. (1976). Stress in health and disease. Reading, MA: Butterworth’s.

ทุกคนต้องการที่ยืน

pride-flag-

Rainbow flag proudly waving

คุณเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมพระเจ้าไม่สร้างให้คนเราให้เหมือนกันหมด ทำไมคนเราถึงต้องมีความแตกต่างกัน หรือเป็นเพราะว่าคนเราเองนั่นแหละที่สร้างระบบต่างๆเพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา และไม่ว่าเหตุผลของคำถามเหล่านี้จะเป็นอะไรก็ตาม สึ่งที่เราต้องยอมรับเลยก็คือ โลกเรานั้นมี “ความแตกต่าง” อยู่จริง และคงไม่มีวันที่่ “ความแตกต่าง” จะหายไป ตราบใดที่ “ความแตกต่าง” นั้นยังมีกลไกที่ช่วยสร้าง “ความหลากหลาย” ทางความคิดให้เกิดในสังคมหรือองค์กร และความหลากหลายเนี่ยแหละเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆเกิดขึ้นมากมาย

ดังนั้นเมื่อเราไม่อาจจะหลีกเลี่ยง “ความแตกต่าง” ได้ สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีคือ การยอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นให้ได้ แต่อย่างที่เราทุกๆคนคงเห็นกันในทุกๆที่ รวมถึงบางครั้งเองเราก็เป็นแบบนั้น คือ การไม่ยอมรับคนบางคนเข้ามาอยู่ร่วมกลุ่มกับเรา และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้ว แต่ การกระทำของเรานั้นได้ทำร้าย “คนคนนั้น” เข้าอย่างจัง

ที่ว่าเรากำลังทำร้ายเขา คือยังไง ลองคิดตามง่ายๆ เวลาตอนเด็กๆมีคนมาล้อคุณว่า คุณอ้วนดำ คุณมันไอ้เด็กเรียนขี้ฟ้อง คุณมันไอ้ตุ๊ด ไอ้เอ๋อ เพื่อนๆไม่ยอมคุยกับคุณและไม่ให้คุณเล่นด้วย ไม่รับคุณเข้ากลุ่มทำรายงาน ลักษณะแบบนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า คุณไม่ได้รับ “การยอมรับทางสังคม” ทางสังคม ความรู้สึกตอนนั้นคุณก็คงสงสัยว่านี่ “กูทำอะไรผิดหรือป่าว ทำไมการที่กูเป็นแบบนี้มันผิดตรงไหน” บางทีคุณก็แอบร้องไห้และไม่อยากไปโรงเรียน ลักษณะแบบนี้ทางจิตวิทยาอาจเรียกว่า คุณขาด “การตระหนักรู้ในตัวเอง” (self awareness) หรือจะให้พูดง่ายๆคือคุณขาดความมั่นใจ คุณมองไปทางไหนคุณก็ไม่รู้ว่าคุณต้องทำตัวยังไง

ในทางจิตวิทยาก็มีการทดลองเพื่อพิสูจน์เรื่องเหล่านี้และพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร “การยอมรับทางสังคม” (social acceptance) ส่งผลต่อ “การตระหนักรู้ในตนเอง” (self awarness) อย่างมีนัยสำคัญ และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ไม่ว่าคุณจะมีบุคคลิกภาพอย่างไร ไม่ว่าคุณจะเป็นชอบคบผู้คน (extrovert) คุณเป็นคนเก็บตัว (introvert) คณเป็นมุ่งมั่นตั้งใจ (concientiousness) คุณก็ไม่สามารถหลบหลีกกฎข้อนี้ได้ ความมั่นใจของคุณยังขึ้นกับ “การยอมรับทางสังคม” อยู่ดี หรืออาจจะสรุปง่ายๆว่าทุกคนต้องการการยอมรับจากผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองดำรงชีวิตต่อไปได้ด้วยความมั่นใจว่าตัวเองมีคุณค่า

ทุกคนล้วนต้องการการยอมรับทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศไหน ประกอบอาชีพอะไร ฐานะเป็นอย่างไร ยากดีมีจนขนาดไหน ทุกคนก็อยากให้คนอื่นเห็นคุณค่าและยอมรับในตัวเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเพียงหน่วยเล็กๆของสังคมที่อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร เพราะนี่เป็นความต้องการอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ (ตามหลักทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้นของ Maslow) นอกจากเรื่องของปากท้องแล้ว การยอมรับก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามีกำลังใจ มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตต่อไปข้างหน้าได้

เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนต่างก็มีความสำคัญต่อสังคม แต่จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ลองคิดดูนะ ถ้าสังคมนี้ขาดหน่วยใดในสังคมไป สังคมเราจะเป็นอย่างไร ถ้าการก่อสร้างไม่มีคนงานมาช่วยทำ ถ้าเกิดโรงงานไม่มีหนุ่มสาวโรงงาน และถ้าสักวันหนึ่งเราไม่มีคนช่วยทำความสะอาดถนน คุณคิดว่าสังคมนี้จะเป็นอย่างไรละ

ทุกคนล้วนสำคัญ “การให้การยอมรับ” และ “การเคารพกัน” ในหน้าที่ของแต่ละคน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สังคมนี้ขับเคลือนต่อไปได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากโดนดูถูก ไม่มีใครหรอกที่อยากโดนเหยียด คุณลองคิดดูสิ ถ้าคุณโดนคนอื่นเหยียดความเป็นตัวคุณแล้วคุณจะรู้สึกอย่างไร…..

ขอแสดงความยินดีกับชาวรักร่วมเพศทุกๆคน พวกคุณแสดงให้เห็นถึงพลังในการที่จะยืนหยัดต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองอย่างชัดเจน เพื่อให้สังคมยอมรับในตัวพวกคุณมาโดยตลอด และในวันนี้การต่อสู้อันยาวนานของพวกคุณได้จบสิ้นลงแล้ว สิทธิที่คุณควรจะได้รับในวันนี้สิทธินั้นได้เกิดขึ้นจากความพยายามของพวกคุณแล้ว‪#‎celebratepride‬ ‪#‎lovewin‬

ไม่มีวันหรอกที่คนบนโลกนี้จะเท่ากัน แต่ต้องมีสักวันหนึ่งที่คนบนโลกต้องเท่าเทียม

…. เพราะทุกคนล้วนต้องการที่ยืน

—– เนดะ

Reference:
1) Leary, Mark R.; Cottrell, Catherine A.; Phillips, Misha (2001). Deconfounding the effects of dominance and social acceptance on self-esteem. Journal of Personality and Social Psychology, Vol 81(5), Nov 2001, 898-909.
2) Maslow, A.H. (1943). A theory of human motivation. Psychological Review 50 (4) 370–96.

หรือเราเลือกจะทำร้ายตัวเอง

images

ในชีวิตคนเราก็ต้องเจอเรื่องดีเรื่องร้ายปนๆกันไป เป็นธรรมดาของชีวิต ไม่มีทางที่ชีวิตคนเราจะสมบูรณ์แบบไปทุกๆเรื่องอย่างแน่นอน ผมว่าเรื่องนี้คุณทุกคนน่าจะรู้กันดี อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ส่วนใหญ่ก็คือความคาดหวังที่บางทีก็อาจจะมากเกินจริง และมักไม่สนใจว่าความจริงคืออะไร และนั่นแหละที่เรียกว่าเรากำลังทำร้ายตัวเองจากการหลอกตัวเองอยู่ ซึ่งพอเราทำร้ายตัวเองด้านจิตใจ พฤติกรรมของเราก็เป็นไปตามจิตใจของเรา ตามทฤษฎีของ planned behavior ที่ว่าเจตคติ (attitude) ของคนเรามักจะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรม (behavior) ของเรา

ดังนั้นจะว่าไปแล้วตัวเราเองเป็นคนที่กำหนดพฤติกรรมของตนเองได้บางส่วน ดังทฤษฎีพื้นฐานของจิตวิทยาสังคม ที่ Kurt Lewin (บิดาแห่งจิตวิทยาสังคม) กล่าวไว้ว่า พฤติกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก สิ่งแวดล้อมและตัวบุคคล หรือถ้าจะเขียนแบบเด็กเนิร์ด จะได้ สมการของ Lewin (Lewin’s equation)

Behavior = f(person, environment)

ต่อให้สภาพแวดล้อมจะบีบบังคับให้เราทำอะไรบางอย่าง แต่พฤติกรรมจะเกิดหรือไม่ก็ขึ้นกับตัวเราด้วยว่า เรามีความอดทนมากหรือน้อย เรามีความพยายามมากหรือน้อย เรามีบุคคลิกภาพแบบใด พฤติกรรมนั้นถึงจะก่อเกิดขึ้นได้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าคนสองคนพบเจอสถานการณ์คล้ายกันแต่กลับมีพฤติกรรมต่างกัน บางครั้งก็ต่างอย่างสุดขั้วเลยก็มี ยกตัวอย่างใกล้ตัวง่ายๆ เวลาคนเราผิดหวังกับความรัก บางคนเลือกที่จะทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่บางคนกลับเลือกที่จะยืนหยัดยอมรับความผิดหวัง และเผชิญกับความจริงแบบไม่เข้าข้างตัวเอง

สถานการณ์ทำได้แค่บีบบังคับเรา แต่เราเป็นคนเลือกที่จะทำมันเอง

ถ้าจะโทษอะไรสักอย่างที่ทำให้เราทำแบบนี้เป็นแบบนี้…. คุณคงจำได้ว่าพฤติกรรมเกิดจากอะไร

—- เนดะ

Reference:
1) Ajzen, Icek (1991). “The theory of planned behavior”. Organizational Behavior and Human Decision Processes 50 (2): 179–211.
2) The Sage Handbook of Methods in Social Psychology: Lewin’s equation

เรียนอะสบายสุดแล้ว

commencement2

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่น่ายินดี อีกข่วงหนึ่งของชีวิตหลายๆคน เพราะหลายๆคนได้เรียนจบกันอย่างเป็นทางการ และเริ่มเข้าฤดูของการรับปริญญาแล้ว

ชีวิตของเหล่าบัณฑิตที่จบในปีนี้ก็จำเป็นจะต้องเลือกเส้นทางที่มีให้เลือกมากกว่าเดิม ผมว่าการเรียนจบปริญญาตรีสำหรับวัยรุ่นไทยเป็นช่วงชีวิตการตัดสินใจที่ถือว่ายากมากทีเดียว เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่เราตัดสินใจแบบไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ตายตัวอย่างแต่ก่อน ที่ถ้าจบ ม.ต้น ก็ต่อ ม.ปลาย พอจบม. ปลาย ถ้าสอบติดก็เรียน สอบไม่ติดก็พยายามเข้ามหาลัยเอกชน ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกที่แปลกหรือแหวกแนวอะไรมาก

แต่พอมาเป็นจุดที่เราเรียนจบปริญญาตรี เรามีทางเลือกมากขึ้นยิ่งยุคสมัยปัจจุบันด้วยเนี่ย ตัวเลือกยิ่งมากเลยแหละ บางคนเลือกจะทำงานในสายที่เรียนมา บางคนเลือกที่จะไปเรียนต่อในอีกสายหนึ่ง บางคนเลือกที่จะทำงานในบริษัท บางคนก็เลือกที่จะทำธุรกิจของตัวเอง และบางคนก็เลือกที่จะหยุดพักเพื่อค้นหาตัวเอง ไม่มีตัวเลือกไหนถูก ตัวเลือกไหนผิดอีกต่อไป สังคมในวันนี้โดยส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับได้ทุกตัวเลือก (ไม่เหมือนตอน ม.ต้น ที่จะขึ้น ม.ปลาย และสังคมบอกเราว่า แกต้องเลือกสายวิทย์นะ เข้าใจไหม) อยู่ที่ว่าตัวเลือกไหนจะเหมาะกับใครและใครจะมุ่งมั่นในตัวเลือกนั้นได้ดีกว่ากันก็เท่านั้นเอง ทุกทางเลือกล้วนประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น

พอพูดถึงเรื่องการประสบความสำเร็จ ก็ทำให้คิดเรื่องหนึ่งขึ้นมาว่า เอ๊ะแล้วอะไรหละที่จะเป็นตัวทำนายความสำเร็จของคนเราได้ ความสำเร็จจะเกิดกับเฉพาะคนฉลาดมี IQ สุงๆอย่างเดียวหรอ จะว่าไปก็ไม่ใช่ บางคนไม่่ได้มี IQ สูงมากแต่ก็ประสบความสำเร็จในการทำงาน ทำงานได้ดีมีผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด เราก็ได้เห็นอยู่ถมไป แล้วอะไรหละที่ทำนายความสำเร็จ

นักจิตวิทยาหลายท่านก็สงสัยเหมือนเราๆนั่นแหละว่าอะไรกันนะเป็นตัวที่จะทำนายความสำเร็จได้ และเกิดการทดลองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวัด IQ EQ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับประสิทธิภาพในการทำงาน (Job performance) จากงานวิจัยหลายชึ้นพบว่า มีลักษณะนิสัย (trait) แบบหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากกับประสิทธิภาพในการทำงานก็คือ การสำนึกผิดชอบ (conscientiousness) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลิกภาพ 5 ด้านใหญ่ (Big five) และหมายถึง การที่รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องทำอะไร มีความอดทน รับผิดชอบ มีการเรียงลำดับความสำคัญในส่ิงต่างๆ และมีระดับการควบคุมตนเองที่สูงที่จะสามารถกำหนดพฤติกรรมของตัวเองได้

และนักจิตวิทยาหลายคนก็ได้ให้เหตุผลว่า บุคคลที่มีการสำนึกผิดชอบสูง มักจะประสบความสำเร็จเพราะว่า เป็นคนที่รู้จักวางแผน (well-organized) และมักมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง อีกทั้งยังมีความอดทนมากพอที่จะบังคับพฤติกรรมตัวเองให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ จากตรงนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ถ้าใครมีพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน

ตังนั้นจึงอยากจะฝากถึงบัณฑิตทุกคนที่กำลังเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง บางคนอาจจะเลือกได้แล้ว บางคนอาจจะยังคิดที่จะเลือกอยู่ ก็ขอให้คิดวิเคราะห์ให้ดี และเมื่อเลือกเส้นทางเดินของตัวเองแล้ว ไม่ว่าทางเลือกไหนก็จงมีการสำนึกผิดชอบ (conscientiousness) มุ่งมั่นตั้งใจบากบั่นและวางแผน เพื่อให้เราประสบความสำเร็จในทุกๆเส้นทางที่เราเลือกเดินครับ

สุดท้ายขอฝากบทกลอนบทนี้ให้แก่บัณฑิตทุกท่านและหวังว่าทุกๆคนจะมีสามารถผ่าฟันอุปสรรคในโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้ไปให้ได้….

“อยากจะพูดบอกกล่าวความยินดี
ถึงน้องที่เรียนจบแล้วในปีนี้
อุตส่าห์เรียนตรากตรำมาหลายปี
เวลานี้เป็นบัณฑิตน่าภูมิใจ

จงเติบใหญ่ต่อไปในภายหน้า
พร้อมความกล้าเผชิญกับทุกสิ่ง
ในชีวิตตอนนี้คือเรื่องจริง
อย่าหยุดนิ่งก้าวเดินอย่าท้อถอย

เพราะความจริงชีวิตเพิ่งเริ่มต้น
ยังไม่พ้นต้องเจอกับปัญหา
ทั้งเรื่องคนเรื่องงานมากนานา
อีกวาจาเดียดฉันท์และนินทา

เพราะชีวิตบนโลกจริงนั้นไม่ง่าย
ต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจทุกวี่วัน
แต่อย่าท้อจงสู้จงฝ่าฟัน
เพราะความฝันยังรออยู่ที่บั้นปลาย”

ยินดีกับบัณฑิตทุกคนและขอให้ทุกคนสมหวังกับทางที่ตัวเองเลือกเดิน

—- เนดะ (ดัดแปลงกลอนจากฉบับที่โฟสเมื่อ เมษายน 2555)

Reference:
Timothy A. Judge*, Chad A. Higgins, Carl J. Thoresen andMurray R. Barrick. THE BIG FIVE PERSONALITY TRAITS, GENERAL MENTAL ABILITY, AND CAREER SUCCESS ACROSS THE LIFE SPAN. Personnel Psychology. Volume 52, Issue 3, pages 621–652

เรามาถึงจุดนี้กันได้ไงวะ

How_do_we

เรามาถึงจุดนี้ได้ไงวะ

จุดที่เราแม่งอยากลดความอ้วนแต่กินไม่เลิก แล้วยังมีหน้าบอกอีกว่า อ้วนแล้วกินอะไรก็ได้…… จะผอมไหมชาตินี้

หรือจุดที่เราบอกว่าเบื่องานจะเป็นจะตายแต่ก็นั่งทำงานงกๆ แล้วก็บอกว่าเออจริงๆงานนี้มันก็ดีนะ….. อ้าวตกลงมึงเบื่อจริงปะเนี่ย

ผมมีคำตอบให้ครับว่าเรามาถึงจุดนี้ยังได้ยังไง?

เรื่องที่พูดไปเมื่อกี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์เราทุกคนแหละครับ
เชื่อเลยว่าทุกท่านคงเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ความคิดกับส่ิงที่ตัวเองทำไม่ตรงกันอยู่บ่อยๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆอีกอย่าง เช่น สาวๆเวลาไปช๊อปปิ้งซื้อกระเป๋าสักใบ

ความเชื่อในหัวของสาวนักช๊อป: กระเป๋าซื้อไม่ต้องแแพงหรอกเอาแค่พอใส่ของได้ก็พอละ เอาไรมากมาย เงินทองมันหายากนะเว้ยเฮ้ย

พฤติกรรมจริงของสาวนักช๊อป: เห็นกระเป๋าหลุยส์รุ่นใหม่ในเวบหิ้วมาจากยุโรปราคาถูกกว่าเมืองไทย….. กดซื้อแบบไม่ลังเล – -”

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้นั้น ทางจิตวิทยาเราเรียกว่า ความไม่คล้องจองของปัญญา หรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Cognitive dissonance” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ความไม่พึงพอใจซึ่งเกิดพฤติกรรมบางอย่างไม่ตรงกับกับเจตคติ (attitude) ของบุคคลนั้น ซึ่งสภาวะนี้จะก่อให้เกิดความเครียด ความไม่สบายใจ และความอึดอัด

ดังนั้นแล้วตามธรรมชาติของมนุษย์เราที่ไม่ชอบความอึดอัดและความไม่สบายใจ จึงพยายามจะหาวิธีการต่างๆที่จะทำให้เกิดความคล้องจองทางปัญญา (Cognitive consonance)

และเนื่องจากกระบวนการที่เป็นกระบวนการภายในบุคคล ดังนั้นการนำมาซึ่งความคล้องจองจึงต้องเกิดจากการปรับเปลี่ยนที่ตัวบุคคลเป็นหลักโดยจะทำได้ 3 วิธี คือ
1) เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้สอดคล้องกับเจตคติ <แต่แอบยากนะ> (Change behavior)
2) เปลี่ยนเจตคติของตนเอง <ง่ายมากเข้าข้างตัวเองไป> (Change attitude)
3) พยายามมองว่าความไม่คล้องจองนี้เป็นเรื่องเล็กในชีวิต <ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่เลย อย่าซีเรียส> (Trivialize dissonance)

จะยกกรณีศึกษาที่คลาสิกมากในยุคนี้ให้ดูจะได้เข้าใจกันมากขึ้น

เหตุการณ์ศึกษา “อยากลดความอ้วน”

Attitude: ช่วงนี้อ้วนมากไม่ไหวละ ต้องลดความอ้วนละ จะไม่กินขนมหวานตอนบ่าย จะไปวิ่งอาทิตย์ละ 3 วัน จะงดแป้งมื้อเย็น คราวนี้เอาจริงนะเว้ย สู้ตาย!!!!

Behavior: เฮ้ย…วันนี้ไม่ไปวิ่งละ ไปหาไรกินดีกว่า วันนี้เบื่อๆเหนี่อยๆ (เป็นแบบนี้ตลอดสองอาทิตย์)

แล้วก็ไปจัดข้าวเย็นมื้อหนัก สักพักก็เกิดฉุกคิดขึ้นได้ว่านี่เรากำลังลดความอ้วนอยู่นิหว่า…..เวรละ…..เกิดความไม่สบายใจขึ้นเนื่องจากเกิดความไม่คล้องจองกัน (cognitive dissonance)

ดังนั้นจึงต้องเกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อจะลดความไม่สบายใจ โดยมีวิธีการก็จะมีดังนี้
1) Change behavior: หลังจากวันนั้น ก็เกิดความรู้สึกผิดและทำตามแผนที่วางไว้ไปวิ่งอาทิตย์ละ 3 วัน งดแป้งมื้อเย็น และลดขนม
2) Change attitude: จริงๆตอนนี้เราก็ไม่ได้อ้วนมากนะเว้ย ออกจะมีเนื้อมีหนังกำลังดีเป็นที่ต้องการ <เออะ…. มโนละ>
3) Trivialize dissonance: เรื่องอ้วน เรื่องน้ำหนัก เรื่องเล็ก ไม่เห็นต้องเอามาใส่ใจให้เป็นประเด็นเลยนินา เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

จะเห็นได้ว่าวิธีการแรกนั้นทำได้ยาก คือถ้าทำได้มันคงทำได้มานานละ ไม่น่าจะต้องรอกว่าสองอาทิตย์ ส่วนวิธีการที่สามบางครั้ง เราก็ไม่อาจจะตัดหรือปลงกับเรื่องนั้นได้เพราะมันก็ยังคงเป็นเรื่องที่วนเวียนในหัวเราอยู่ ดังนั้นโดยปกติมนุษย์เราก็เลยเลือกที่จะเปลี่ยนเจตคติหรือความคิดของตนเอง (หลอกตัวเอง) ให้สอดคล้องไปกับพฤติกรรมที่ตนเองทำเพื่อก่อให้เกิดความสบายใจ ทั้งที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สุดควรจะเป็นวิธีการแรกนะในกรณีนี้

ซึ่งในทางจิตวิทยาเองก็มีทำการวิจัยในเรื่องนี้โดยผู้ที่ทำการคิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมาก็คือ Festinger โดย Festinger ได้ทำการวิจัยโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำดังนี้

1) ให้หมุนจุกไม้ซ้ำเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือว่าง่ายๆคืองานน่าเบื่อโคดๆ ทำซ้ำๆหมุนไปหมุนมา
2) หลังจากนั้นผู้ทำการทดลองจะแบ่งผู้ร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม
– กลุ่มแรกผู้ทำการทลองเข้ามาบอกกับผู้เข้าร่วมการทดลองว่า จะให้เงิน $1 เพื่อให้ออกไปโกหกคนที่นั่งรอเข้าห้องทดลองอยู่ว่า “งานที่ให้ทำแม่งโคดสนุก”
– อีกกลุ่มนึงผู้ทำการทดลองบอกว่าจะให้เงิน $20 โดยให้โกหกแบบเดียวกัน

3) หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองที่โกหกเสร็จแล้วก็จะนำมาถูกประเมินว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับงานที่ได้ทำไป ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเงิน $1 ให้ไปโกหกประเมินให้งานที่พวกเขาทำมีความสนุก มากกว่าผู้ที่ได้รับเงิน $20
<นี่แม่งอะไรกันวะเนี่ย…… ดูขัดแย้งกับสิ่งที่คิด ที่คิดไว้คนที่ได้เงินเยอะน่าจะตอบว่าสนุกมากกว่าเพราะได้ตังเยอะ>

Festinger ให้เหตุผลว่าที่เป็นแบบนี้เนื่องจากคนที่ได้รับ $1 นั้นเกิด cognitive dissonance ขึ้นเพราะว่า พฤติกรรมของเขานั้นคือต้องไปบอกคนอื่นว่า งานมันสนุก โดยที่มีเจตคติว่าที่พูดแบบนี้เพราะผู้ทำการทดลองให้เงิน $1 ซึ่งตรงนี้นั้นจะขัดแย้งเพราะเงิน $1 คือน้อยมากอะจะเอาไปเพื่อไปโกหกคนอื่นทำไมกันเสียเวลา ดังนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองจึงเกิดการเปลี่ยนเจตคติของตนเองแทนว่าจริงๆแล้วงานมันก็สนุกดีนะ

ในขณะที่คนที่ได้รับ $20 นั้นมีเหตุผลมากพอที่จะแสดงพฤติกรรมการโกหก ดังนั้นพอประะเมินตัวงานจึงประเมินตามความจริงว่างานแม่งน่าเบื่อมากๆ โดยจากงานวิจัยนี้จะเห็นได้ว่าเจตคติของคนเรานั้นสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยพฤติกรรมของเรา ดังนั้นการที่เราเลือกที่จะปรับเปลี่ยนแค่เจตคติเพียง อาจจะทำให้สุดท้ายเราอาจจะมีเจตคติในสิ่งที่ผิดไปจากความจริงก็เป็นไปได้ อย่างเช่น งานหมุนจุกไม้ที่น่าเบื่อกลายเป็นงานที่สนุกซะได้

ที่พูดมานี้ไม่ได้จะเป็นการบอกว่า การที่คนเราเลือกวิธีการที่ง่ายอย่างการเปลี่ยนเจตคติ (หลอกตัวเอง) เวลาเจอความไม่คล้องจองกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีเพราะว่าจากงานวิจัยหลายงานวิจัย รวมไปถึงการบำบัดผู้ป่วยในหลายๆครั้งการใช้วิธีการเปลี่ยนเจตคติในการช่วยรักษา ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ที่วัยรุ่นทุกท่านน่าจะเคยประสบกันมาบ้างนะครับ

เหตุการณ์ศึกษา “เขายังรักฉันอยู่”

Attitude: เขายังรักฉันอยู่เว้ย พวกแกแม่งไม่เข้าใจหรอก เลิกกันก็จริงแต่เขายังไม่มีใครเลยแสดงว่าเขายังรักฉันอยู่เว้ย เชื่อฉันดิ

Behavior: Line ไปหาเขาไม่ตอบ โทรไปเขารีบตัดบทบอกว่าเขาอ่านหนังสืออยู่

เหตุการณ์แบบนี้ถ้าจัดการด้วยวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมก็คงจะไม่เวิร์กเพราะยิ่งจะทำให้ตัวเองเจ็บเปล่า แต่ว่าถ้าจะปรับโดยมองให้เป็นเรื่องเล็กก็อาจจะยากจนเกินไปในตอนนั้น (ฟูมฟาย ขนาดนี้จะให้มองเป็นเรื่องเล็กได้ไงฟระ…) ดังนั้นการปรับตัวที่ดีที่สุดก็คือการที่ลองปรับเจตคติของตนเองให้สอดคล้องไปกับพฤติกรรม เช่น เฮ้ย จริงๆแล้วเขาแม่งไม่รักเราแล้วหวะไม่งั้นถาม line แม่งคงตอบมาละ ไม่ปล่อยให้รอนานแบบนี้หรอก

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อลด cognitive dissonance นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป แต่ว่าจะต้องดูถึงสถานการณ์ ว่าสถานการณ์ใดควรใช้การปรับเปลี่ยนอย่างไรจึงจะเหมาะสมและลดความอึดอัดใจของเราได้ดีที่สุด

พูดแบบนี้อาจจะงงกันว่าแล้วเรามีขั้นตอนอย่างไรในการดูว่าการปรับตนเองแบบไหนเหมาะกับสถานการณ์แบบไหน จึงอยากจะลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยประสบมา บางคนอาจจะยังตกอยู่ในเหตุการณ์นี้ก็เป็นได้ (รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย)

เหตุการณ์ศึกษา “มนุษย์เบื่องาน”

Attitude: งานที่ทำแม่งน่าเบื่อหวะ ไม่ชอบเลย แม่งโคดไม่ใช่ตัวตน เบื่อโว้ย
Behavior: มาเข้างานทุกวัน ทำงานหนัก ทำงานเกินเวลา……

ก่อนอื่นเราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าเราสามารถปรับพฤติกรรม (Change behavior) ของเราให้สอดคล้องกับความคิดเราได้ไหม เช่น งานน่าเบื่อ งานมันแย่ แล้วเราสามารถลาออกจากงานได้ไหม เราสามารถย้ายตำแหน่งได้ไหม เราขอเปลี่ยนแผนกได้ไหม หรือ เราสามารถทำให้งานกลายเป็นงานที่น่าทำขึ้นได้ไหม ถ้าเราทำไม่ได้เนื่องจากมีเหตุผลอื่นๆเช่น ต้องใช้เงินดูแลครอบครัว งานนี้ให้ผลตอบแทนเราดีสุดแล้ว

เราก็ต้องมาวิเคราะห์ต่อไปว่าแล้วเรามองให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กในชีวิตได้ไหมละ (Trivialize dissonance) เราบอกกับตัวเองว่า งานแม่งเรื่องเล็กของชีวิต เรื่องชีวิตคู่ เรื่องแต่งงาน เรื่องเลี้ยงลูก เรื่องสุขภาพ เรื่องดูแลครอบครัวสิ ถึงจะเรียกว่าเรื่องใหญ่ คือเราพยายามจะละเลยส่วนนี้ออกไปจากชีวิตเรา แต่ถ้าเราไม่สามารถคิดเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กในชีวิตได้ เช่นว่า โหยวันนึงทำงานอย่างต่ำ 8 ชั่วโมงมันหนึ่งในสามของวันละนะ อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยของชีวิตแล้ว เป็นเรื่องใหญ่ยังไงก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็มาถึงจุดสุดท้ายคือ เราต้องปรับเจตคติ (Change attitude) ซึ่งกล่าวไปแล้วว่าเป็นวิธีที่ทำง่ายที่สุดแล้วในบรรดาวิธีการปรับทั้งหมด โดยการปรับเจตคติอาจจะปรับโดยเลือกเอาด้านที่ดีบางด้านของสิ่งที่สอดคล้องกับพฤติกรรมเรามาเป็นเจตคติของเรา เช่น งานที่ทำอยู่นี่ ทำงานกับคนดีๆทั้งนั้นเลยนะ ถ้าไปทำที่อื่นจะเจอคนดีๆแบบนี้ไหมเนี่ย หรือ งานที่ทำอยู่นี่มันช่วยเหลือประเทศชาติมากเลยนะ เป็นงานโคดเสียสละอะ

เมื่อเราลองไล่ขั้นตอนตามนี้แล้วก็จะพบว่าวิธีการปรับไหนที่เหมาะกับเราและเหมาะกับสถานการณ์เหล่านั้นด้วย

จากที่เห็นกันก็จะพบว่า cognitive dissonance ล้วนเกิดขึ้นกับเราเป็นธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น ควรพับผ้าห่มไหมหลังตื่นนอน (เคยเห็นใน pantip อ่านแล้วขำดี) จนไปถึงเรื่องที่สำคัญต่างๆในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก การงาน ครอบครัว แน่นอนเลยว่ามันเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคงไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะทำทุกอย่างได้ตามที่ตัวเองคิดหรือตามที่ตัวเองเชื่อได้หมดหรอก ดังนั้นแล้วสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นการกล้าที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อลดความไม่ลงรอยเหล่านั้นนะ

เพราะความไม่สมบูรณ์เป็นธรรมดาของชีวิต ผู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ไม่ใช่ผู้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นผู้เข้าใจและปรับตัวเข้ากับความไม่สมบูรณ์ที่เกิดขึ้นได้ต่างหาก

และแล้วเราก็พากันมาถึงจุดนี้

—— เนดะ

Reference:
– Festinger, L. (1957). A Theory of Cognitive Dissonance. California: Stanford University Press.
– Festinger, L. & Carlsmith, J. M. (1959). Cognitive consequences of forced compliance. Journal of Abnormal and Social Psychology, 58, 203 – 210.
– จรุงกูล บูรพวงศ์ (2011). เอกสารประกอบการสอนวิชา ทฤษฎีและงานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม.