ความเหมือนที่เติมเต็ม

“โลกเรามักจะดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้าหากันเสมอ…” ผมได้ยินคำพูดนี้มาโดยตลอดตั้งแต่จำความได้ ซึ่งจริงๆแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเราลองคิดดูดีๆในชีวิตเราก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกคนน่าจะเคยเจอประสบการณ์การเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกที่ต้องพลัดพรากจากเพื่อนมัธยมปลายที่รักกันมาก ต่างคนต่างแยกย้ายเข้าสู่รั้วมหาลัย พอเข้าไปช่วงแรกเราก็ปรับตัวพยายามหาเพื่อนและรวมกันเพื่อสร้างแกงค์ใหม่

สังเกตไหมเวลาเราเริ่มจะเลือกคบใครเราก็พยายามหาคนที่ Life style เดียวกันใช่ไหมละ คนที่แบบมีแนวคิดเดียวกัน อย่างคนชิวๆไม่ซีเรียสเรื่องเรียนก็คงไม่คบกับเด็กเนิร์ดบ้าเรียนเอาแต่ทำการบ้านใช่ปะหละ เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วโลกอะไม่ได้ดึงดูดเราไปหาสิ่งที่เหมือนหรอก แต่ว่าเราเองนั้นแหละที่พึงพอใจให้สิ่งที่เหมือนนั้นเข้ามาหาเรา…..

จึงเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะมีเพื่อนสนิทหรือคนรักที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน
ในทางจิตวิทยาก็บอกว่า ความสัมพันธ์ของคนสองคนแบบนี้ เรียกว่ามี “ความสอดคล้อง” (fit) กัน ซึ่งความสอดคล้องที่เกิดจากความเหมือนกัน เช่น นิสัยใจคอเข้าได้ การใช้ชีวิตแบบเข้ากันได้ (life style) ความคิดเห็นเป็นในแนวทางเดียวกัน แบบอารมณ์เพื่อนสนิทกันแบบนี้ ถูกเรียกว่า “ความสอดคล้องแบบองค์ประกอบเสริม” (Supplementary fit)

อย่างไรก็ตาม… สังเกตไหมว่า “ความเหมือน” ไม่ใช่ทุกอย่าง ความเหมือนอาจจะทำให้เราได้มีโอกาสมาเจอกัน ได้มีโอกาสสนิทกัน แต่สิ่งที่สำคัญในการสานความสัมพันธ์ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซิ้งนั้น กลับต้องการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เดี๋ยวนี้มีสาวๆ profile ดี หลายๆคนออกมาบ่นตามหน้า social media ว่า เนี่ยนะเรา profile ดีขนาดนี้ แต่ทำไมผู้ชายถึงเลิกกับเราไปคบกับใครก็ไม่รู้ที่ดูจะ low profile กว่าเราอีก อันนี้จึงสามารถตอบได้ดีเลยว่า

ใช่!!! คุณอาจจะมีความเหมือนกับผู้ชายคนนั้นในเรื่องสังคม การงาน การศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณมีโอกาสได้เจอกันสนิทกัน แต่ถ้าคุณไม่สามารถเติมเต็มให้กันและกันได้แล้ว ต่อให้เหมือนกันเพียงใดความสัมพันธ์มันก็ไม่อาจจะสมบูรณ์ได้ มันก็เหมือนกับเวลากินข้าวแล้วเรามีส้อม 2 คัน มันไม่มีทางที่จะดีไปกว่า กินข้าวแล้วใช้ช้อนคู่กับส้อมได้หรอก….

ดังนั้นในทางจิตวิทยาจึงบอกว่า ความสอดคล้องจะสมบูรณ์ได้ไม่ใช่มีแต่ Supplementary fit เพียงอย่างเดียวแต่ต้องมี “ความสอดคล้องแบบเติมเต็ม ” (Complementary fit) ด้วย เพราะว่าความสัมพันธ์ที่แนบแน่น หรือ ที่เรียกว่า ความสอดคล้องเนี่ย มันจำเป็นต้องมีการเข้าอกเข้าใจ คอยช่วยเหลือ สนับสนุนกันด้วย ไม่ใช่แค่ความคิดเหมือนกันแล้วทุกอย่างจะดีหมด แต่ต้องมีบางอย่างที่คอยเติมเต็ม และคอยสนับสนุนกันในยากที่ลำบากด้วย

ความสอดคล้องแบบเติมเต็มจึงถือเป็นอีกตัวแปรนึงที่มีผลต่อ สิ่งที่เราเรียกว่า ความมีพันธะสัญญา หรือ การอุทิศตน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความรักที่สมบูรณ์ได้

ดังนั้นการจะรักใครสักคนมันไม่ใช่แค่ว่าฉันคิดเหมือนกันกับเขา แล้วทุกอย่างจะจบ แต่มันจำเป็นต้องมีการเติมเต็มซึ่งกันๆ เหมือนเครื่องดนตรีที่ต้องมีทั้งเครื่องที่มีเสียงสูงและเครื่องที่มีเสียงต่ำ เพื่อให้บทเพลงออกมาได้ไพเราะยังไงหละ…..

สุดท้ายนี้ก็ขอฝากทุกท่านว่า (พูดเหมือนให้พรไงไม่รู้ 555) การที่คนสองคนได้มีโอกาสมาพบกันนับว่ายากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ คนๆนั้นเป็นคนที่สอดคล้องกับเราและเข้าใจเรา คนที่คล้ายกับเราแต่ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ต่างที่พร้อมจะเติมเต็มให้กับเราด้วย

จำได้ไหมใครที่อยู่กับเราตลอดเวลาเราอยากจะบ่นแม้จะเป็นเรื่องไร้สาระ
จำได้ไหมใครที่ว่างเสมอเมื่อเรามีเรื่องอยากปรึกษา
จำได้ไหมคนที่เราลอกการบ้านเขาตอนวัยเด็ก (เติมเต็มมากๆบอกเลย)
คุณจำได้ไหมละว่าคนนั้นเป็นใคร?
มันไม่ง่ายเลยนะที่จะหาคนที่ “สอดคล้อง” กับเรา

อ่านจบแล้วคุณคิดถึงใคร?
อย่าลืมคิดถึงเขาและรักษาเขาไว้นะ ………. ^ ^

ขอบคุณประสบการณ์ดีๆจากงานวิจัย

—– เนดะ

Reference:
Kristof-Brown, A.L., Zimmerman, R.D., & Johnson, E.C. (2005). Consequences of individuals’ fit at work: A meta-analysis of person–job, person–organization, person–group, and person–supervisor fit. Personnel Psychology, 58, 281–342.

Leave a comment