ความรักนักจิตวิทยา

ช่วงนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนแต่งงาน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน อาจจะเป็นฤกษ์งามยามดี (หรือจริงๆอายุผมมันเยอะ จนควรจะแต่งงานแล้ววะ….เมื่อวานดู facebook เพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่งไปอีกแล้วสองคน) แต่จริงๆผมว่าผมก็ไม่ได้แก่มากหรอกนะ มีพี่ๆ (ป้าๆ) อีกหลายคนที่อายุเยอะกว่าผมยังไม่แต่งเลยก็มี

เข้าเรื่องกันนิดนึง….. พอนึกถึงการแต่งงานก็อดนึกไปถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการแต่งงาน นั่นก็คือ “ความรัก” นั่นเองงงงงงงงงงงง
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยสับสน งุนงง งงงวย คิดไม่ตก ว่า “ความรัก” มันคืออะไรกันแน่ ทำยังไงถึงจะเรียกว่า “ความรัก”
หรือความรักอาจจะเป็นความเสียสละ
หรือความรักอาจจะต้องมีความเข้าใจ
หรือความรักอาจจะเป็นความห่วงใย
หรือความรักจะเป็นตับ ไต ไส้ พุง อย่างที่เพลงเขาบอกกัน

ดังนั้นวันนี้จึงอยากจะมานำเสนอ “ความรัก” ในเชิงจิตวิทยาให้ทุกคนทราบกันบ้าง ว่านักจิตวิทยาที่เขาชอบพูดเรื่องพฤติกรรมต่างๆของคนเนี่ย เขาคิดว่า “ความรัก” มันคืออะไรกัน เพื่อบางคนที่สงสัยว่าเรากำลังมี “ความรัก” หรือป่าวจะได้มั่นใจมากขึ้นว่า “รัก” มันเกิดขึ้นจริง

จริงๆแล้วมีนักจิตวิทยาหลายคนให้ความหมายของความรักไปต่างๆนานา แต่ว่าสุดท้ายแล้วมีนักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อว่า Robert Sternberg ได้รวมรวมทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวกับ “ความรัก” ที่มีหลายคนเคยเสนอเอาไว้ มาวิเคราะห์ รวบรวม ไตร่ตรอง และสังเคราะห์ มาเป็นทฤษฎีใหม่ ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

โดยทฤษฎีนี้ Sternberg ตั้งชื่อได้น่าสนใจทีเดียว ทฤษฎีนี้ชื่อว่าทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular theory of love)

Sternberg บอกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” มีด้วยกัน 3 องค์ประกอบ เปรียบได้กับมุมของสามเหลี่ยมแต่ละมุม ซึ่งได้แก่

1. Intimacy (ความผูกพัน) หมายถึง การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน การที่คนสองคนมีความสนิทสนมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน พูดคุยกันในทุกๆเรื่อง

2. Passion (ความหลงใหล) หมายถึง มีความชอบพอในรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ มีความลุ่มหลงต่อคนนั้น ย้ำคิดย้ำทำคิดวนไปวนมาแต่เรื่องของคนนั้น เรื่องลุ่มหลงนี้เนี่ย หมายรวมไปถึงเรื่องแรงดึงดูดทางเพศด้วยนะ (18+)

3. Commitment (ความมีพันธะสัญญา) หมายถึง การที่เรายอมอุทิศตนเพื่ออีกคนหนึ่งอย่างสุดความสามารถอย่างซื่อสัตย์ และทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้กับคนๆนั้นไว้

จากองค์ประกอบของ “ความรัก” ทั้ง 3 อย่าง ทำให้เราแบ่ง “ความรัก” ได้เป็น 8 ประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนองค์ประกอบของความรักที่มี
ความรักบางประเภทมีเพียง 1 องค์ประกอบ
ความรักบางประเภทมี 2 องค์ประกอบ
ความรักบางประเภทก็มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ

ซึ่งความรักทั้ง 8 ประเภท มีดังนี้

1. Nonlove คือ ความไม่รัก ฟังแล้วดูงงๆ แต่หมายถึงความรักที่ไม่ได้มีองค์ประกอบอะไรเลยใน 3 องค์ประกอบ ก็ลองสังเกตกันนะว่าถ้าตอนนี้คนที่เราคบอยู่ยังไม่มี 3 องค์ประกอบนี้เลย แสดงว่านั่นอาจจะเป็นความไม่รักก็ได้ ใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ แนะนำให้ไปฟังเพลงนิว จิ๋ว “ไม่รัก ไม่ต้องมาแคร์ ไม่ต้องมาดีกับฉัน…..หยุดได้ไหมสักที หากไม่รักก็ปล่อยกันไป”
https://www.youtube.com/watch?v=6eEEfyTYKqY

2. Liking/ Friendship คือ รักแบบเป็นมิตร เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียว คือ ความผูกพัน ก็อารมณ์ประมาณว่าสนิทกันไปไหนมาไหนด้วยกัน คุยกันถูกคอ แต่ได้ชอบอะ ไม่ได้หลงอะ เข้าใจปะ ประโยคคลาสิกที่หลายคนเคยเจอกัน “เราเป็นแค่เพื่อนกันเถอะ” พูดง่ายจังวะ “แล้วหัวใจที่มันผูกพันไปแล้วหละวะ ใครจะรับผิดชอบ…”
https://www.youtube.com/watch?v=rw1BXzZgoPc

3. Empty love คือ รักว่างเปล่า เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ Commitment หรือ ความมีพันธะสัญญา ผมว่าหลายคนคงเคยเจอนะ มันเป็นความรักที่อาจจะเกิดขึ้นมานานแล้ว เราไม่ได้สนิทกันแล้วแหละไม่ค่อยได้เจอกันแหละ เราก็ไม่ได้หลงใหลในรูปร่างหน้าตาอะไรเขา แต่ว่าถ้ามีเรื่องอะไรเดือดร้อนเราก็พร้อมช่วยเขานะ (อารมณ์แฟนเก่าที่ยังพบปะกันอยู่อะ เข้าใจไหมอะ ทำกูอินวะ….. 555) ความรักแบบนี้เกิดได้อีกกรณีคือคนที่อยู่ด้วยกันมานานเหมือนคุณตา คุณยาย ประมาณนั้น เรื่องความหลงใหล ความสนิทสนมก็หายจางไปตามวัย แต่ว่ายังไงก็พร้อมอุทิศและเสียสละตนเองให้กับคนรักของเรานะ……. อยากเห็นเธอตอนแก่จัง มันดีที่เราอยู่ด้วยกัน มันดียังกะฝัน จะอยู่ด้วยกันไปจนแก่ไหม……
https://www.youtube.com/watch?v=7Q2gvon3E2M

4. Infatuated love คือ รักแรกพบ หรือแนวหลงเขาตั้งแต่แรกเห็นนั่นแหละ (Love at the first sight) เหมือนอารมณ์ Romeo & Juliet อะครับ คือเห็นครั้งแรกปุปหลงรักเลย (เคยดูหนังแล้วงงเลยครับ เจอกันครั้งแรก มองผ่านตู้ปลา รักกันละ ผมละเข้าไม่ถึง…) ความรักแบบนี้เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ Passion หรือ ความหลงใหล บางคนอาจจะมองว่า ความรักแบบนี้เป็นบุพเพสันนิวาส หรือ แต่บางคนก็บอกว่ามันอาจเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบก็ได้เห็นเขาหน้าตาดีไงก็เลยหลง แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ใครที่มีความรักแบบนี้ก็ขออวยพรให้เป็นความรักอันเป็นนิรันดร์แบบ Romeo & Juliet ละกัน
https://www.youtube.com/watch?v=uBPFK7CzNOo

5. Romantic love คือ ความรักอันหวานแหวว ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นความรักที่ดีที่สุด แต่จริงๆความรักที่หอมหวานของหลายๆคน ยังขาดสิ่งที่เราเรียกว่าความมีพันธะสัญญา (commitment) การที่จะยอมทำทุกอย่างให้กับอีกฝ่าย การที่พร้อมจะเสียสละและอุทิศตนเพื่อคนที่เรารักในทุกๆเรื่องนั้นมันไม่ใช่เรื่องงานเลยที่จะหาคนแบบนั้น

ความรักแบบนี้นี่แหละที่เป็นต้นเหตุของการหย่าร้างกัน เพราะว่าคิดว่าผูกพันกัน (Intimacy) และ ชอบกัน หลงกัน (Passion) แล้วก็จบละ พออยู่ด้วยกันจริงๆจำเป็นจะต้องมีความเสียสละ ต้องยอมอุทิศบางอย่างที่เป็นสิ่งที่เราชอบไปด้วย ซึ่งบางครั้งหลายๆคู่ก็ไม่สามารถผ่านจุดนี้ได้ก็ต้องเลิกรากันไป

เพราะฉะนั้นเวลาใช้ชีวิตร่วมกันก็ต้องระมัดระวังต้องยอมเสียสละให้กันและกัน และสุดท้ายมีเรื่องอะไรที่อยากให้ปรับอย่ามัวเขินอายครับ บอกกันไปตรงๆเลยครับบางทีการแปลความมันก็ยากเกินกว่าจะเข้าใจ (โดยเฉพาะเพศชายที่มีความสามารถเดาพฤติกรรมเพศหญิงได้ต่ำมาก…. ไม่ต้องมารับหรอกดึกแล้วเดี๋ยวเรียกแท๊กซี่เอง อันนี้แปลว่า มึงรีบมารับเขาเดี๋ยวนี้เลยเข้าใจป่าววะ) ก็พยายามปรับตัวเขาหากันนะครับ “ก่อนที่มันจะสาย”…..
https://www.youtube.com/watch?v=rjuHddQ13rs

6. Companionate love คือ ความรักแบบคู่คิดคู่ใจ คือเป็นความรักที่ประกอบด้วย ความผูกพัน และ ความมีพันธะสัญญา ให้กัน มันเป็นอารมณ์แบบว่า เพื่อนสนิท อะนะ น่าจะเข้าใจกัน คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยอมเสียสละให้กันได้ในทุกๆเรื่อง ยอมทำหลายๆให้กับคนๆนั้น แต่มันยังขาดความหลงใหลต่อกัน หรือพูดง่ายขาดความชอบพอกัน หรืออาจจะชอบพอเขาผ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายไม่ชอบพอด้วยก็จะเกิดความรักแบบนี้ได้ อันนี้พบบ่อยกับผู้ชายหน้าตากลางๆอย่างพวกเราที่แอบรักสาวหน้าตาดี สนิทกับเขา ช่วยเหลือเขาทุกอย่างและสุดท้ายยังไง “เพื่อนสนิท” ไง จบปะ!!! แต่ผมว่าการเป็นเพื่อนสนิทก็ไม่ได้เลยร้ายนะ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันขาดมีแต่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ต่างกับการเป็นแฟนที่พร้อมจะเลิกกันได้ตลอดเวลาเลยนะ…. “รักแบบนี้มีไว้เก็บ….. ไม่ได้มีไว้เสี่ยง”
https://www.youtube.com/watch?v=6Res7tv2peI

7. Fatuous love คือ รักเพ้อเจ้อ เป็นความรักที่มีองค์ประกอบของความหลงใหล และความมีพันธะสัญญา แต่ขาดองค์ประกอบของความผูกพัน จะเป็นอารมณ์ว่าหลงจนโงหัวไม่ขึ้นนั่นเอง หลงแบบพร้อมที่จะอุทิศทุกอย่างให้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ให้ความสนิทสนม หรือมาใกล้ชิดกับเรามากขึ้นเลย ความรักแบบนี้พบบ่อยมาก และมักจะเป็นปัญหากับเหล่าที่ปรึกษาทั้งหลาย เพราะส่วนใหญ่ที่ปรึกษาจะบอกว่า “เลิกเหอะ…คนแบบนี้ไปหลงอะไรนักหนา” คุ้นๆกันไหมประโยคนี้ “จะทำเพื่อมันทำไมนักหนาฟระ” แล้วสุดท้ายเป็นไงละ แม่งไม่เคยเชื่อกันหรอก…….. อันนี้แนะนำที่ปรึกษาว่าให้เพื่อนลองเจ็บนะครับ หลงเขานักก็ควรจะได้รับบทเรียนครับ เชื่อผมเถอะมันเจ็บแต่จบจริงครับ
https://www.youtube.com/watch?v=B6bFLLVbEnM

8. Consummate love คือความรักสมบูรณ์แบบ คือ ความรักที่มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งความผูกพัน ความหลงใหล และความมีพันธะสัญญา เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในอุดมคติของคนเรา อย่างไรก็ตาม Sternberg บอกว่าความรักแบบนี้มีจริง แต่ไม่สามารถรักษาให้มีอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ของที่เกิดถาวรมีเกิดขึ้นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่ว่าแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเดียวของชีวิตการมีรักที่สมบูรณ์ก็ย่อมดีกว่ามีรักแบบอื่นนะ
ว่าแล้วก็หยิบ เพลง “ความรัก” ของ superbaker ขึ้นมาฟัง “เคยไหมบางที่เหนื่อยก็อดทน คิดถึงบางคนจนไม่ยอมพักผ่อน เคยไหมบางเพลงไม่ชอบฟังแต่อยากจะร้องให้ดีสักหน เพราะรู้ว่าใครบางคนที่ชอบเพลงนั้น”
https://www.youtube.com/watch?v=J8LmiUnYG_0

ได้เห็นวิธีการแบ่งประเภทของความรักตามนี้แล้วก็น่าจะเริ่มรู้กันแล้วแหละว่า “เอ๊ะความรักของเรานั้นเป็นแบบไหนกันแน่นะ” แต่ไม่ว่าความรักของคุณจะเป็นแบบไหนในตอนนี้ จะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ตามที

จงจำไว้ว่าประเภทของ “ความรัก” เปลี่ยนไปได้ตามเวลา เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อถอย ถ้าเราเชื่อว่าความรักของเราจะเป็นความรักที่สมบูรณ์ได้ก็จงอย่าลังเลที่จะเติมเต็มความรักให้สมบูรณ์นะครับ

“ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ได้แสดงว่าคุณเหมาะจะมี “ความรัก” เพราะคุณมีความอดทนสูงมาก บางครั้ง “ความรัก” ก็ต้องใช้ความอดทนไม่มีใครหรอกที่จะทำให้เกิดความรักที่สมบูรณ์ในครั้งแรก ความอดทนและการให้อภัยนี่แหละที่จะทำให้เกิดองค์ประกอบของความรักขึ้นมา”

ขอให้โชคดีในความรักทุกคน

เนดะ

Reference:
Sternberg, Robert J. (2004). “A Triangular Theory of Love”. In Reis, H. T.; Rusbult, C. E. Close Relationships. New York: Psychology Press. p. 258.