หรือเราเลือกจะทำร้ายตัวเอง

images

ในชีวิตคนเราก็ต้องเจอเรื่องดีเรื่องร้ายปนๆกันไป เป็นธรรมดาของชีวิต ไม่มีทางที่ชีวิตคนเราจะสมบูรณ์แบบไปทุกๆเรื่องอย่างแน่นอน ผมว่าเรื่องนี้คุณทุกคนน่าจะรู้กันดี อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ส่วนใหญ่ก็คือความคาดหวังที่บางทีก็อาจจะมากเกินจริง และมักไม่สนใจว่าความจริงคืออะไร และนั่นแหละที่เรียกว่าเรากำลังทำร้ายตัวเองจากการหลอกตัวเองอยู่ ซึ่งพอเราทำร้ายตัวเองด้านจิตใจ พฤติกรรมของเราก็เป็นไปตามจิตใจของเรา ตามทฤษฎีของ planned behavior ที่ว่าเจตคติ (attitude) ของคนเรามักจะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรม (behavior) ของเรา

ดังนั้นจะว่าไปแล้วตัวเราเองเป็นคนที่กำหนดพฤติกรรมของตนเองได้บางส่วน ดังทฤษฎีพื้นฐานของจิตวิทยาสังคม ที่ Kurt Lewin (บิดาแห่งจิตวิทยาสังคม) กล่าวไว้ว่า พฤติกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก สิ่งแวดล้อมและตัวบุคคล หรือถ้าจะเขียนแบบเด็กเนิร์ด จะได้ สมการของ Lewin (Lewin’s equation)

Behavior = f(person, environment)

ต่อให้สภาพแวดล้อมจะบีบบังคับให้เราทำอะไรบางอย่าง แต่พฤติกรรมจะเกิดหรือไม่ก็ขึ้นกับตัวเราด้วยว่า เรามีความอดทนมากหรือน้อย เรามีความพยายามมากหรือน้อย เรามีบุคคลิกภาพแบบใด พฤติกรรมนั้นถึงจะก่อเกิดขึ้นได้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าคนสองคนพบเจอสถานการณ์คล้ายกันแต่กลับมีพฤติกรรมต่างกัน บางครั้งก็ต่างอย่างสุดขั้วเลยก็มี ยกตัวอย่างใกล้ตัวง่ายๆ เวลาคนเราผิดหวังกับความรัก บางคนเลือกที่จะทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่บางคนกลับเลือกที่จะยืนหยัดยอมรับความผิดหวัง และเผชิญกับความจริงแบบไม่เข้าข้างตัวเอง

สถานการณ์ทำได้แค่บีบบังคับเรา แต่เราเป็นคนเลือกที่จะทำมันเอง

ถ้าจะโทษอะไรสักอย่างที่ทำให้เราทำแบบนี้เป็นแบบนี้…. คุณคงจำได้ว่าพฤติกรรมเกิดจากอะไร

—- เนดะ

Reference:
1) Ajzen, Icek (1991). “The theory of planned behavior”. Organizational Behavior and Human Decision Processes 50 (2): 179–211.
2) The Sage Handbook of Methods in Social Psychology: Lewin’s equation

ความรักไม่ใช่เรื่องของคนสองคน

639611f2c

“โอ้ความรักช่างยากเกิดความคิด
ทางไหนถูกไหนผิดยากคาดหมาย
แม้ทุ่มเททุ่มใจสุดแรงกาย
ก็ไม่วายเจ็บช้ำผิดหวังไป

ในวันนี้พอทบทวนถึงความรัก
ได้ประจักษ์ว่าไม่ใช่แค่สองใจ
ต้องรวมถึงการยอมรับจากผู้ใหญ่
จะรักใครไม่ใช่เรื่องแค่สองคน”

มันเป็นเรื่องน่าแปลกที่ความรักก่อเกิดขึ้นมาจากคนสองคน แต่พอความรักบังเกิดขึ้นความรักกลับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากขึ้นกลายเป็นเรื่องของคนหลายคนขึ้นมา หลายคนรักกันปานจะกลืนกินแต่ไม่ผ่านจุดนี้ก็ไปกันไม่รอด แน่นอนการผ่านอุปสรรคนี้ได้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งเพราะความรักเกิดขึ้นจากคนสองคน ถ้ามีอุปสรรคอย่าปล่อยให้คนๆเดียวแก้ แต่ต้องช่วยกันแก้ทั้งสองคน

ความรักช่างน่าแปลก…

ขอให้ทุกคนโชคดีกับความรัก

เนดะ

ชีวิตมักโดนเปรียบเทียบ

11406786_420555881459604_1229049351962003907_n

การพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดการเปรียบเทียบ แต่ถ้าการเปรียบเทียบมีไว้เพื่อยกตัวเองเพื่อเหนือคนอื่น… การเปรียบเทียบนั้นก็ไม่ต่างอะไรคำด่าว่าผู้อื่น

อาจจะพูดได้ว่าทุกคนไม่สามารถหลีกหนีการเปรียบเทียบได้ แม้เราบอกว่าเราไม่อยากเปรียบเทียบเรากับใครแต่ยังไงก็มีคนเปรียบเทียบเรากับคนอื่นอยู่ดี ดังนั้นกระบวนที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า social comparison process จึงเป็นกระบวนการปกติในชีวิตมนุษย์ Leon Festinger ผู้เสนอแนวคิดนี้บอกว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้นให้รู้ว่าความคิดหรือความสามารถของเราเป็นอย่างไรอยู่ระดับไหน

การเปรียบเทียบจะมีอยู่สองประเภทคือ Upward comparison คือเปรียบเทียบกับคนที่เราคิดว่าดีกว่าเรา การเปรียบเทียบแบบนี้โดยจุดประสงค์ก็เพื่อพัฒนาตัวเองให้เราปรับความสามารถเราให้สูงเพิ่มไปอีก ส่วน Downward comparison คือการเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเพื่อเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเองว่าอย่างน้อยชีวิตเราก็ไม่ได้แย่ไปซะหมดยังมีคนที่ลำบากกว่าเราอีกมากมาย

การเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้แต่เราเลือกเราได้ว่าจะเอาผลของการเปรียบเทียบไปทำอะไร ถ้าคุณคิดจะเปรียบเทียบเพื่อยกตนข่มคนอื่นแล้ว ต่อไปคนที่อยู่ใกล้คุณอาจจะไม่มีเลย จนต่อให้คุณอยากเปรียบเทียบ คุณอาจจะยังหาไม่ได้เลย..

เนดะ

เรามองเรา หรือ เขามองเรา

39330_479563912177_4513477_n

เชื่อว่าหลายๆคนมักจะคิดว่า ใครจะไปรู้จักตัวเองดีเท่าตัวเราละ…. ใช่ครับไม่มีใครรู้จักตัวตนของคุณมากกว่าตัวคุณหรอก แต่มันจะต้องมีบางมุมของตัวคุณ บางมุมที่คุณแสดงออกความเป็นตัวตน จนเป็นนิสัยของคุณไปแล้วแต่คุณอาจจะไม่สังเกตเห็น แต่เพื่อนสนิทคุณเห็นอย่างแน่นอน แล้วเชื่อไหมนิสัยนั้นมักจะเป็นนิสัยแย่ๆที่คุณไม่ค่อยยอมรับด้วยว่าคุณเป็นแบบนั้น…..

ในทางจิตวิทยาก็มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้เหมือนกันเราเรียกว่าการศึกษาด้าน self knowledge คือ การศึกษาความรู้ที่เกี่ยวกับตัวเอง จากงานวิจัยหลายชิ้นก็พบว่า คนเรามักจะมีความรู้เกี่ยวกับตัวเองในระดับนึงและมักจะประเมินว่าตัวเองดีกว่าที่ตัวเองเป็น

ส่วนเพื่อนจะมีความรู้เกี่ยวกับตัวเราในบางเรื่องที่เราไม่ได้ประเมินไว้และโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในแง่ลบด้วย… จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งเราอาจจะถูกใครเกลียด ทั้งๆที่เราคิดว่าเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนิ แต่จริงๆแล้วเราประเมินตัวเองดีเกินไปนั่นเอง….

มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ว่าคุณรู้สึกยังไงหรือคุณเป็นคนยังไง มันต้องขึ้นกับว่าคนอื่นมองว่าคุณเป็นยังไงด้วย การรู้จักตัวเองอย่างสมบูรณ์จึงไม่ใช่แค่ต้องเข้าใจตัวเองแต่เป็นการต้องรู้ด้วยว่าคนอื่นเข้าใจเราอย่างไร

ส่วนการที่เราจะปรับตัวให้คนอื่นรู้สึกกับเราดีขึ้นในเรื่องนั้นหรือไม่ อันนั้นเป็นสิ่งที่คุณต้องตัดสินใจแล้วแหละ เราไม่จำเป็นต้องปรับทุกเรื่องแต่เราควรจะรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราหรือเรื่องที่สะท้อนมายังตัวเรา

และเพื่อนที่ดีคือเพื่อนที่กล้าสะท้อนตัวเราแม้ว่าภาพนั้นจะแย่ก็ตาม

ชีวิตบนความคาดหวัง

11401538_422299621285230_5608609866795655493_n

บางครั้งก็อดสงสัยว่าตกลงแล้วสมัยนี้เราต้องรวยมีเงินเป็นร้อยล้านตอนอายุสามสิบหรือไง หรือเราจำเป็นต้องออกไปท่องเที่ยวไฮโซ กินข้าวร้านบรรยากาศดีๆกันทุกวันหรือป่าว….

หลายครั้งหลายหน สังคมสร้างชีวิตอุดมคติให้กับเราและสื่อสารมาถึงเรามากเกินไปโดยเฉพาะในโลกของ social network จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นหลายพฤติกรรมใน social network ทั้งการใฝ่ฝันอยากเป็น net idol การต้องแสดงออกถึงชีวิตดีๆของเรา รวมไปถึงการอวดร่ำอวดรวยกันใน social network

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าอุดมคติทางสังคมสร้างให้เราเป็นแบบนั้น สร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นให้กับชีวิตมนุษย์ ทำให้เราต้องใช้พื้นที่ที่เราแสดงตนได้ ในการแสดงออกว่าเราเข้ามาใกล้เคียงอุดมคติมากขนาดไหน ซึ่งแท้จริงแล้วการกระทำแบบนี้อาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้ถ้าเราสามารถรับมือกับอุดมคติที่เว่อเกินจริงแบบนี้ได้…..

ในทางจิตวิทยาเองก็มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้เช่นกัน โดยนักจิตวิทยาชื่อ Higgins เสนอว่าเมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำ (self discrepancies) ระหว่าง ชีวิตจริง กับ ชีวิตในอุดมคติ แล้วจะก่อให้เกิดอารมณ์เข้มข้น เช่น เราเห็นคนสวยๆหล่อๆกันใน facebook เราก็อยากจะสวยหล่อแบบนั้นบ้างตามสังคม ซึ่งถ้าเราทำไม่ได้เราก็รู้สึกผิดหวัง คับข้องใจ หดหู่

นอกจากนี้ถ้าเกิด self discrepancies ระหว่าง ชีวิตจริง กับ ชีวิตที่ควรจะเป็นตามที่สังคมสร้างไว้ (ought self) ก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมลังเล ไม่เป็นตัวของตัวเองได้ งานวิจัยยังพบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุม self discrepancies ได้มักจะสูญเสียความเป็นตัวเองและการนับถือตัวเอง (self esteem). ซึ่งก่อให้ผลต่างๆตามมา เช่น หดหู่ใจ (depression), เครียด (stress), ฯลฯ

จริงๆแล้วอุดมคติทางสังคมมีข้อดีคือเอาไว้เป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่การพยายามไขว่คว้าหรือพยายามหลอกคนอื่นหรือแม้กระทั่งหลอกตัวเองว่าชีวิตของเราใกล้อุดมคติมากเพียงไร

อุดมคติทางสังคมเป็นเรื่องดีที่ควรมีไว้เพื่อการพัฒนา แต่สิ่งที่ควรมีมากกว่าคือใจที่อดทนและยอมรับในชีวิตแม้ว่าวันนี้ชีวิตเรามันยังไม่ถึงอุดมคติก็ตาม

 

ด้วยรักและปรารถนาดี

เนดะ