เหตุผลของการไม่มีชีวิตอยู่

หลายครั้งหลายหนมนุษย์เราพยายามค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่างๆนานารอบตัวเรา เราพยายามจะเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่ชีวิตของพวกเราเอง เราก็พยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่า “ทำไมเราจึงต้องมีชีวิตอยู่กันต่อไป?”

ถึงแม้ว่าหลายๆคนจะมีเหตุผลและคำตอบมากมายให้กับตัวเองเกี่ยวกับคำถามที่ว่า “ทำไมเราจะต้องมีชีวิตอยู่?” แต่ในอีกมุมนึงของสังคม กลับมีคนที่ตั้งคำถามในทางกลับกัน คือ “เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม?” คนที่สิ้นหวังในชีวิตและรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างสุดๆจนบางครั้งบุคคลเหล่านี้ก็อาจจะทำในสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างเช่น การฆ่าตัวตาย ก็เป็นไปได้

บางคนมองว่า “การฆ่าตัวตาย” เป็นเรื่องที่ไร้สาระมีแต่คนโง่และบ้าเท่านั้นแหละที่จะทำแบบนี้ แต่ถ้าเรามองดูกันให้ดี “การฆ่าตัวตาย” นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันจำเป็นต้องต่อสู้สัญชาตญาณ การกลัวความตาย ซึ่งเป็นสัญชาตญาณหลักของมนุษย์ให้ได้ ที่บอกแบบนี้ไม่ได้จะกล่าวชื่นชมคนที่คิดสั้นนะครับ แต่อยากจะบอกกับทุกคนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆเลย การที่คนเราตัดสินใจแบบนี้ ถ้ายังเป็นผู้มีสติสัมปะชัญญะดีด้วยละก็แสดงว่าสิ่งที่เขาพบเจอมามันคงต้องยากลำบากจนไม่สามารถทนไหวได้จริงๆ

เพื่อที่จะเข้าใจปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น ในทางจิตวิทยาเองก็มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างกว้างขวางมีหลากหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายสาเหตุของการฆ่าตัวตาย แต่มีทฤษฎีนึงที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งชื่อว่า “The interpersonal-psychological theory of suicidal behavior” ที่เสนอโดย Thomas Joiner (2005) โดยในทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่า การที่จะเกิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ

1) Perceived Burdensomeness (การรับรู้ว่าตัวเองเป็นภาระ)
2) Low Belonging/Social Alienation (ความรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคม)
3) Acquired Ability to Enact Lethal Self-Injury (ความสามารถในการที่จะทำร้ายตัวเอง)

ทฤษฎีนี้ให้รายละเอียดว่า จุดเริ่มต้นของการฆ่าตัวตาย เริ่มจากการเกิดความปรารถนาที่อยากจะฆ่าตัวตาย (suicide desire) ก่อน ซึ่งเกิดมาจาก Perceived Burdensomeness หรือคนที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองนั้นเป็นภาระแก่ครอบครัว เป็นภาระต่อเพื่อน เป็นภาระต่อสังคม คิดว่าถ้าตัวเองไม่อยู่แล้วชีวิตคนอื่นน่าจะดีขึ้นไม่ต้องมาลำบากเพราะเราอีก หลายครั้งหลายหนเราเจอเหตุการณ์นี้กับคนที่ทุพลภาพ กับ คนที่ป่วยหนักและไม่อยากให้ครอบครัวต้องมาเดือดร้อนเพราะเรื่องของตัวเอง

และ Low Belonging/Social Alienation หรือภาวะความรู้สึกโดดเดี่ยวจากผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือสังคม ไม่มีคนคอยให้คำปรึกษาหรือรับฟังเรื่องราวต่างๆ จากหลายงานวิจัยในอเมริกาพบว่าการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นจะเกิดในช่วงปิดเทอม summer มากกว่าช่วงที่มีเวลาเรียน โดยมีการตั้งสันนิฐานว่าเนื่องจากวัยรุ่นต้องอยู่คนเดียวไม่ค่อยได้พบปะเพื่อนฝูงจึงมีโอกาสเกิดการฆ่าตัวตายได้มากขึ้น เมื่อเกิดทั้งสององค์ประกอบที่กล่าวไปก็ทำให้คนๆนั้นเกิดความปรารถนาที่อยากจะฆ่าตัวตายขึ้นมา

แต่ใช่ว่ามีความปรารถนาอย่างเดียวจะทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการฆ่าตัวตาย คือ คนๆนั้นจะต้องมีใจกล้าพอที่จะกล้าทำร้ายตัวเอง (Acquired Ability to Enact Lethal Self-Injury) ซึ่งเรื่องนี้นั้นเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะจำเป็นต้นเอาชนะสัญชาตญาณมนุษย์ที่โดยปกติจะรักชีวิตของตัวเอง

จากงานวิจัยหลายๆงานก็พบว่ากระบวนการที่จะก่อให้เกิดความสามารถนี้ขึ้นได้ เมื่อคนๆนั้นเกิดได้รับประสบการณ์ที่เจ็บปวดหรือน่าหวาดกลัวซ้ำๆ เมื่อเกิดขึ้นอย่างซ้ำก็ทำให้คนนั้นมีความกลัวตายน้องลง (less fearlessness in the face of death) หรือพูดง่ายๆว่าเจ็บปวดซ้ำๆแบบนี้สู้ตายดีกว่า ดังนั้นคนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่ได้หุนหันพลันแล่นอยากฆ่าตัวตายหรอกนะครับ แต่เขาเจอกับสิ่งเลวร้ายมาเยอะมากๆแล้วต่างหาก และยิ่งถ้าประกอบกับสภาวะร่างกายและจิตใจที่ไม่ปกติก็อาจจะเป็นตัวเร่งให้ ความกลัวตายน้อยลง และเกิดการฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวไป คือ การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆต้องผ่านการเจ็บแบบซ้ำๆมาหลายครั้งหลายหน ดังนั้นเราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะช่วยคนที่ตกอยู่ในสภาวะที่อยากจะฆ่าตัวตาย (ย้ำครับว่าทุกๆคน) ได้กลับมามีกำลังใจและพร้อมจะต่อสู้กับชีวิตอีกครั้ง เราต้องทำให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวและเป็นภาระต่อคนรอบข้าง ทำให้เขามั่นใจว่าตัวเขามีค่าและเขาจะต้องยืดหยัดอยู่กับเราต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน

ในส่วนตัวผมเชื่อว่าถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากทำอะไรที่แบบนี้หรอก ความคิดที่ว่าตัวเองเป็นภาระและความโดดเดี่ยวเนี่ยแหละที่ทำให้คนเราอ่อนแอแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการได้รู้สึกแบบนี้บ่อยๆก็คงทำให้เรื่องมันลงเอยด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิด

“ถามว่าคนอ่อนแอผิดไหม?” ผมว่าทุกคนเชื่อแหละว่าความอ่อนแอ มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าถ้าเราอ่อนแอแล้วตัดสินใจทำอะไรบางอย่างโดยไม่คิดถึงผลกระทบอะไรเลย ไม่คิดถึงคนที่อยู่ข้างหลังเลย มันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำแน่ๆ

แต่ไม่ว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นยังไงจะเหมาะสมหรือไม่ในบริบทของจริยธรรมหรือบรรทัดฐานของสังคม ผมว่าพวกเราในฐานะผู้ที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันก็ไม่สิทธิไปต่อว่าความอ่อนแอของใคร หรือไปพยายามกล่าวหาใครว่าเป็นต้นเหตุของความอ่อนแอ เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไร และไม่ทำให้คนที่อ่อนแอเข้มแข็งขึ้นได้หรอกครับ มีแต่จะทำให้คนอ่อนแอยิ่งอ่อนแอลงต่างหาก เพราะกลายเป็นว่าเขารับรู้ว่าสังคมไม่ได้ต้องการคนอ่อนแอแบบเขาอีกต่อไป

ผมว่าเราลองเปลี่ยนจากการต่อว่า เหน็บแนม ด่าทอ มาลองเป็นให้กำลังใจเขาดีกว่าไหมครับ และเก็บเรื่องราวของเขาไว้เป็นอุทาหรณ์ให้เรา คนร่วมสังคมที่ยังมีลมหายใจอยู่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลคนใกล้ชิดและช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดคุณ
ไม่มีใครหรอกครับที่อยากจะอ่อนแอ….

พวกเรารู้ว่าพี่เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว และพวกเราเข้าใจมันดี หลับให้สบายนะครับ ผมจะเก็บชิ้นงานดีๆของพี่ไว้เสมอ เหมือนที่ผมเก็บผลงานของพี่โจ้เอาไว้ในใจเสมอ แม้ตัวจะจากไปแต่เสียงเพลงของพี่ยังอยู่…….

‪#‎RIPSingha‬

ด้วยรักและอาลัย จากแฟนเพลงท่านหนึ่ง

—– เนดะ

Reference:
Joiner, T.E. (2005). Why people die by suicide. Cambridge, MA: Harvard University Press.

Leave a comment