เพราะเราอะไรเราถึงกลัว?

Io_Fear_standard2.jpg

คุณเคยกลัวอะไรบ้างไหม? ผมว่าพวกเราทุกคนจะต้องมีอะไรที่เรากลัวบ้างแหละ บางคนกลัวหมา บางคนกลัวหนู บางคนกลัวจิ้งจกและแทบทุกคนที่ผมรู้จักมักจะกลัวแมลงสาบ (ร้อยละ 80 ของคนไทยกลัวแมลงสาบ 555) นอกจากพวกสัตว์หน้าตาน่ากลัวแล้วบางคนก็กลัวเป็นสิ่งของ บางคนกลัวลูกโป่ง บางคนกลัวส้ม (จะบ้าตายเพื่อนผมเองกลัวส้ม) บางคนก็กลัวเป็นสถานที่ เช่น พวกกลัวความสูง กลัวบ่อน้ำไรงี้

นอกจากความกลัวแบบที่กล่าวไปแล้ว ผมว่าทุกคนน่าจะเคยกลัวนะ “เคยกลัวที่จะทำอะไรบางอย่าง” เอาง่ายๆเลยนะ หนุ่มๆทั้งหลายเคยกลัวที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสาวที่ถูกใจไหมละ (เอาตอนที่ความหน้าด้านและความหน้าม่อของคุณยังไม่ถูกฝึกนะ ผมว่ามันต้องเคยกันบ้างละ) หรือเคยกลัวว่าจะสอบตกป่าวละน่าจะเคยกันนะ ถ้าไม่เคยจะดูเก่งเกินไปละ 555

พูดมาขนาดถึงขนาดนี้หลายๆคนคงน่าจะอยากรู้กันบางแล้วมั้งว่าความกลัวมันเกินจากอะไรวะ? แม่งเกิดมาได้ยังไงเนี่ย วันนี้เลยอยากจะขออาสามาบอกเล่า ที่มาของการเกิดความกลัวให้ฟังกัน

สาเหตุแรกของการเกิดความกลัว ก็คงมาจากการที่เราเคยลองทำอะไรบางอย่างไปแล้ว ปรากฏว่าผลมันไม่เป็นดั่งหวัง พอครั้งต่อมาเราก็เลยไม่กล้าที่จะทำมันอีก ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วเราสามารถอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ ด้วยหลัก Operant Conditioning (การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ) ของ Skinner ซึ่งอธิบายว่า พฤติกรรมของคนเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการ “การเสริมแรง” และพฤติกรรมจะลดลงเมื่อมี “การลงโทษ” หริอ ถ้าจะพูดง่ายๆก็คือ พอทำอะไรไปแล้วไม่ดี โดนลงโทษ ได้ผลลัพธ์ไม่ดี ทำให้เราเสียใจ เราอาจจะเกิดอาการ “เข็ด” เกิดขึ้น แล้วก็ไม่อยากจะทำต่อละ คือแม่งเซ็งเข้าใจปะ ยกตัวอย่างเช่น หนุ่มบางคนไปขอเบอร์สาวเป็นครั้งแรกก็โดนปฏิเสธไม่สนใจใยดี พอเจอปฏิเสธหลายๆครั้งเข้าก็เลยเกิดความวิตกกังวล เกิดความกลัวในการที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสาวที่ชอบ……………เฮ้ยโลกนี้แม่งอยู่ยากจังวะ

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความกลัว ก็คือ การเกิดความวิตกกังวล (Anxiety) หรือพูดง่ายๆก็คือ อาการป๊อดนั่นเอง
พอเกิดความกังวลมากเข้า เนื่องจากได้ยินได้ฟังเรื่องจากคนอื่นจากสื่อ เราก็เริ่มมโนว่าไม่ควรทำหรอกนะ ถ้าเราทำมันต้องแย่แน่เลย แล้วถ้าทำลงไปจะเกิดอะไรขึ้นไหม แล้วสุดท้ายก็ทำให้เรากลัวที่จะทำขึ้นมาในที่สุด ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจจะอธิบายได้โดยหลักการของ Albert Bandura ที่บอกว่า คนเราเรียนรู้และมีพฤติกรรมต่างๆโดยการสังเกตหรือการมีต้นแบบ

คิดง่ายๆว่าเวลาปกติเราจะทำอะไร เราก็มักจะคอยดูก่อนว่า คนอื่นเขาทำไหมเขาทำกันยังไง ทีนี้ปัญหามันก็มาเกิดตรงที่ว่าถ้าเกิดเราเห็นว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน เราก็จะเกิดอาการกลัวขึ้น เริ่มจะป๊อดแล้วอะ ไม่กล้าทำแล้วอะก็เราเห็นคนอื่นเขาไม่ทำกัน

ปัญหาคือแม่งยังไม่ลงมือทำเลยแต่เรียนรู้จากการสังเกตมาแล้วก็คิดถอนใจว่า เราทำไมได้หรอก กลัวที่จะทำหวะ วิตกกังวลที่จะทำหวะ เช่น สาวๆหลายคนคงประสบปัญหามากเมื่ออายุเยอะแล้วยังไม่มีแฟน หลายคนอยากจะเป็นฝ่ายจีบผู้ชายก่อนแต่ไม่กล้า โอ๊ยจะบ้าหรอไปจีบผู้ชายก่อน มันไม่ดีไม่ดีแน่ๆ ผู้ชายที่ไหนเขาจะชอบ เอิ่มป้าอย่าเพิ่งมโน ถ้าป้ามัวคิดแบบนี้อยู่บนคานต่อไปอาจจะถูกแล้วแหละ 5555

จากที่บอกไปแล้วว่า “ความกลัว” เกิดมาจากสาเหตุอะไร ทีนี้นักจิตวิทยาหลายท่านก็เอาไปคิดต่อว่า แล้วเมื่อมันเกิดความกลัวแล้วเนี่ยคนเราทำอย่างไร จากการศึกษาก็สรุปได้ว่า คนเราจะตอบสนองกับความกลัวได้ 2 แบบ คือ “สู้ หรือ หนี” (Fight or Flight response)

สำหรับ “การหนี” ก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติของสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่จะหนีจากความกลัวต่างๆ โดยเราก็จะเก็บความกลัวเอาไว้แล้วก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความกลัว เช่น คนกลัวผีก็พยายามเปิดไฟตลอดเวลา นอนเปิดไฟกูก็เอา คนกลัวหมาเวลาเจอหมาก็ต้องไปแอบหลังคนอื่น (เป็นเวลาได้โชว์แมน ถ้าเจอสาวๆกลัวหมา 555)

ส่วน “การสู้” นั้นเป็นสิ่งที่ทำยากกว่าการหนีมากๆ และจำเป็นจะต้องใช้สิ่งที่เราเรียกว่าความกล้าในการเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเอง แต่ก็ใช่ว่ามันจะยากมากจนทำไม่ได้ แต่ต้องมีเทคนิคและค่อยเป็นค่อยไป ขอย้อนไปเล่าเรื่องสุดคลาสสิกเกี่ยวกับความกลัวของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง คือ Watson

Watson มีความตั้งใจจะศึกษาเรื่องความกลัว เลยพยายามทำให้เด็กชาย Albert กลัวหนูขาวและของสีขาว หลังจากนั้นเขาวางแผนจะทดลองดูดิว่าจะทำให้ Albert หายกลัวหนูได้ไหม แต่เสียดายที่ Albert ย้ายออกไปจากเมืองก่อน (Albert ก็เลยน่าสงสารไป) ดังนั้น Watson ก็ไปตามหาเด็กที่กลัวของสีขาวต่อในเมือง จึงไปเจอ Peter ที่กลัวกระต่ายขาวมาก Watson ก็เลยเอา Peter มาทดลองโดยใช้หลักการแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยขั้นแรกให้ Peter กินไอติม (ล่อด้วยของที่ชอบ) แล้วเอากระต่ายขาวขังกรงมาไว้ใกล้ๆ จากนั้นก็เลื่อนให้เข้าใกล้ Peter มากขึ้นทีละนิด บางครั้งก็ให้เพื่อน Peter มาเล่นกับกระต่ายด้วย เพื่อทำให้ Peter เห็นและมั่นใจว่ากระต่ายไม่ได้น่ากลัวดุร้ายอะไรนิเล่นด้วยได้ หลังจากทำแบบนี้ไปสักพัก การเชื่อมโยงระหว่างกระต่ายกับบางสิ่งที่ Peter กลัวที่อยู่ในความคิด Peter ก็หายไปได้ ทดลองไปมาจนในที่สุดกระต่ายไปวางอยู่บนตัก Peter ได้ Watson เลยพิสูจน์ได้ว่าความกลัวนั้นสามารถทำให้หายไปได้

หรืออาจจะบอกได้ว่าจริงๆแล้ว ถ้าเราได้มีโอกาสลองทำในสิ่งที่เรากลัว โดยค่อยๆทำค่อยๆกล้าที่ละนิด (อย่าทำแบบ extreme เพราะถ้าผลลัพธ์เกิดไม่ดีเราจะไม่มีทางได้ทำเรื่องที่เรากลัวอีกเลย) ค่อยๆลองไปทีละอย่าง พอเราเริ่มออกไปทำ ความกล้าเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งถ้าเราได้เห็นคนอื่นที่ทำในสิ่งที่เรากลัวได้ เราก็ยิ่งจะมั่นใจว่าจริงๆแล้วเราไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย จนในที่สุดความกลัวนั้นก็หายไปในที่สุด

ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกกับทุกคนว่า เราสามารถเอาชนะความกลัวได้ เราเอาชนะความวิตกกังวล และความป๊อดของเราได้ ถ้าเราคิดจะทำมันจริง ถ้าเรากล้าที่จะเปลี่ยนความคิดและเริ่มลองทำ โดยเริ่มลองทำจากเล็กๆก่อน แล้วค่อยๆปรับให้เข้มข้นขึ้นใหญ่ขึ้น พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากคนรอบตัว แค่นี้เราก็สามารถจะเอาชนะความกลัวได้ครับ เชื่อผมเหอะเราทำได้จริงๆ

ความกลัวเป็นสิ่งที่เอาชนะได้ ขอแค่ลองทำทีละน้อย

เนดะ

Reference:
1) B. F. Skinner, About Behaviorism
2) Bandura, A. (1977). Social learning theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.
3) Watson & Rayner, 1920, p. 1

Leave a comment