นี่เราเหงาหรือเราหวังมากไป

142367-143532

ช่วงนี้อากาศหนาวกำลังเข้ามา (แม้จะไม่มากหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้…..) สัญลักษณ์ของฤดูหนาวที่เราได้เห็นกันทั่วๆไป ก็คงเป็นมหกรรมการลดราคาครั้งยิ่งใหญ่  กระดาษห่อของขวัญ  ลานเบียร์  ปาร์ตี้  คริสต์มาส ปีใหม่ หรือ ความสุข  แต่ยังมีอีกอย่างที่มักจะมาคู่กับอากาศหนาว ไม่รู้ว่าโดยบังเอิญหรือว่ามันเกี่ยวข้องกันจริง  นั่นก็คือ “ความเหงา”

 

อาจจะเป็นเพราะว่า เพลงหลายๆเพลงในเมืองไทยมีการเชื่อมโยงกับความเหงา ไม่เชื่อลองฮัมเพลงกันดูไหม

“ลมหนาวมาเมื่อไหร่ ใจฉันคงจะเหงา คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร”

“โอ้ความเหงา มันช่างหนาว มันช่างยาวนานและทุกข์ทน”

“ได้ยินเพลงบอกไว้ ลมหนาวมาถึงเมื่อไร มันต้องเหงาในใจตามเนื้อเพลงอยู่เรื่อยไป”

ก็เลยอาจจะทำให้ความเหงา กลายเป็นส่วนหนึ่งของฤดูหนาว (ที่ไม่ค่อยหนาว) ไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

 

ความเหงาคืออะไรกันแน่?

ทีนี้พอพูดถึง “ความเหงา” หลายคนก็อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า “เอ๊ะ ตกลงแล้วความเหงามันคืออะไร?” หลายคนคงเคยเจอกับมันแต่ว่าถ้าจะให้อธิบายว่ามันคืออะไร อาจจะอธิบายยากหน่อย  “มันก็แบบอารมณ์เคว้งๆว่างๆ ประมาณนี้มั้ง…. บอกไม่ถูกเหมือนกัน”

จากตรงนี้ก็เลยมีนักจิตวิทยาให้คำนิยามเกี่ยวกับ “ความเหงา” ไว้น่าสนใจทีเดียว โดยบอกว่า ความเหงา คือ ความขัดแย้งทางสังคม (social deficiency) ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น (social relationship) น้อยกว่าสิ่งที่บุคคลนั้นคาดหวังไว้   หรือให้พูดง่ายๆก็คือ ความรู้สึกที่เราพบการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมคนรอบตัวเรามันน้อยกว่าที่เราอยากได้นั่นเอง

จากตรงนี้ก็พอให้รู้ได้ว่าความเหงานั้นจริงเป็นเรื่องระหว่างสิ่งที่เราหวังไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้นะ ยกตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัวเลย คนโสดบางคนก็บ่นว่าเหงาอย่างนู้นอย่างนี้ คนโสดบางคนก็รู้สึกว่าก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหงาอะไร นั่นก็อาจจะเป็นเพราะแต่ละคนคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน บางคนต้องการใครสักคนที่จะต้องมาคุยด้วยกับเราเวลาดึกๆคุยมุ้งมิ้งหนุงหนิง แต่บางคนอาจจะไม่ได้อยากได้แบบนั้นเพราะมีกิจกรรมหลายๆอย่างทำอยู่เวลาว่างๆก็เลยอาจจะไม่ได้รู้สึกเหงาหรือต้องการใครสักคนเข้ามาในชีวิต

 

แล้วความเหงามันเกิดขึ้นได้ยังไงหละ?

จริงความเหงาเกิดได้จากเหตุการณ์มากมายหลายอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเป็น อกหัก เพื่อนทิ้ง พ่อแม่ไม่ใส่ใจ ไปเรียนต่อ  เป็นคนขี้เหงา เป็นคนชอบเจอเพื่อนๆแต่ไม่ได้ไป ต้องไปเที่ยวคนเดียว เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ดังนั้นเพื่อให้เป็นหมวดหมู่และสอดคล้องกับกระบวนการการเกิดความเหงา

นักจิตวิทยาเลยแบ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหงาออกเป็น 2 อย่าง

  1. ปัจจัยที่กระตุ้นความเหงา (precipitating factor) มีสองเหตุกาณ์ ก็คือ
    • เหตุการณ์ที่ไปเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับ (Change achieved social relation)  ยกตัวอย่างง่ายนะ เช่น เวลาเราต้องไปเรียนเมืองนอกใช้ชีวิตคนเดียวแบบนี้เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ได้รับ หรือ สภาพตอนเราอกหักใหม่ก็เหมือนกันจากที่มีคนคอยคุยกลายเป็นไม่มี ก็เลยทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยได้มันเปลี่ยนไปไงหละ
    • เหตุการณ์ที่ทำให้คนเปลี่ยนความคาดหวังเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (Change desired social relation) ระดับความคาดหวังของคนเราในเรื่องความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามวัย เช่นตอนวัยรุ่นเราอาจจะอยากเจอเพื่อนพบปะเพื่อนฝูง ชอบออกจากบ้านไปเที่ยว พอเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เรากลับอยากจะอยู่ที่บ้านเงียบๆไม่ค่อยอยากเจอผู้คนมากก็เป็นได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่กำหนดระดับความคาดหวังของคนเราก็คือ บรรทัดฐานของสังคมที่เราอยู่ (social norm) เอาง่ายๆเลย เช่น แกงค์สาวๆที่เริ่มมีเพื่อนๆแต่งงานกันบ้างแล้ว เพื่อนๆที่ยังไม่แต่งหรือยังโสดอยู่ (โดยเฉพาะโสดอยู่นี่หนัก) ก็จะเริ่มละ เฮ้ยอยากมีคู่ อยากมีคนดูแล แต่จริงๆแล้วเราก็อยู่คนเดียวมา 20 กว่าปี ก็ไม่เห็นมีอะไรนิ ก็อยู่ได้ปะ (บ่นทำไม)  จากตรงนี้ก็ทำให้เราสร้างความเหงาให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัวเพราะสังคมบอกกับเราว่าเราต้องมีคู่สิ เราต้องมีแฟนสิ เราต้องแต่งงานสิ  หรืออีกตัวอย่างในชีวิตประจำวันเลย (ประสบการณ์ตรงเลยครับ) ตอนไปดูหนังคนเดียว ตอนแรกกูก็ว่ากุไม่ได้เหงาอะไรหรอกนะ แต่พอเพื่อนทักว่า ไปดูหนังคนเดียวไม่เหงาหรอวะ เออกูเหงาขึ้นมาทันทีเลยหวะ……  และก็มีอีกหลายๆเหตุการณ์ที่สังคมพยายามให้เราต้องยึดกับความสัมพันธ์แม้ว่าจริงๆแล้วมันอาจจะไม่จำเป็นก็ตามที
  2. ปัจจัยที่จูงใจให้เกิดความเหงา (predisposing factor) นั่นก็คือ ลักษณะของแต่ละบุคคลนั่นเอง ลองสังเกตดูง่ายๆก็ได้ว่าสถานการณ์เดียวกัน แต่ละคนก็ตอบสนองต่อความเหงาไม่เหมือนกัน มีหลายบลักษณะของบุคคลที่นำมาศึกษาแล้วพบว่ามีผลต่อความเหงา อย่างเช่น คนที่ขี้อายจะถูกพบว่าเป็นคนที่มีความเหงาในระดับสูง (Zimbardo, 1977) หรือ คนที่มีความรู้คุณค่าในตนเองต่ำ (self-esteem) ก็พบว่าเป็นผู้ที่มีความเหงาสูงเช่นกัน

 

จากปัจจัยทั้ง 2 ปัจจัยของสรุปง่ายๆว่า ความเหงาเกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับความสัมพันธ์ที่อยากได้กับที่ได้รับดันไม่เท่ากัน ส่วนลักษณะของแต่ละบุคคลจะเป็นตัวบอกว่า แต่ละคนจะมีโอกาสจะควบคุมความไม่สอดคล้องนี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน บางคนมีคุณลักษณะที่สามารถรับมือกับความเหงาได้ บางคนก็ไม่สามารถรับมือได้ก็จะแสดงความเหงาออกมาในรูปพฤติกรรม เช่น เหม่อลอย  ไม่มีความสุข เบื่อชีวิต ดังที่เราเห็นกัน

 

แล้วเราจะจัดการกับความเหงายังไงดีหละ?

จริงหลายๆคนคงมีวิธีการจัดการกับความเหงาของตัวเองในหลายๆรูปแบบจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในชีวิต ซึ่งนักจิตวิทยาหลายคนก็ได้ทำการแบ่งกลุ่มวิธีการในการจัดการกับความเหงาซึ่งถ้าดูดีๆจะสอดคล้องกับกระบวนการทำให้เกิดความเหงา และได้สรุปวิธีการออกมาเป็น กลยุทธ์ 3 ประเภท

  1. ปรับลดความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (Reduce desired level of social contact) คนเรามีวิธีการมากมายในการปรับลดเรื่องความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะปรับตัวได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น สาวที่ตัวติดกับเพื่อนตลอดเวลา พอเพื่อนไปมีแฟนแล้วติดแฟนไม่มาอยู่กับเรา ตอนแรกเราก็เซ็งผสมเหงา และงอนเพื่อนว่า “มีแฟนแล้วก็งี้ ลืมเพื่อน” แต่พอเวลาผ่านไปความคาดหวังในเรื่องความสัมพันธ์เราจะลดลงเราจะเข้าใจโลกมากขึ้นและเริ่มเข้าใจว่าทำไมเพื่อนถึงเป็นแบบนั้น นอกจากนั้นคนเราก็มีการ “หาทำอะไรแก้เหงา” ด้วย ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมที่เราทำคนเดียวแต่ว่ามันเป็นการฆ่าเวลาทำให้เราไม่ได้ไปคิดเรื่องเหงา เช่นอ่านหนังสือ นั่งดูหนังที่ซื้อมา นั่งเล่นกับหมา หรืออีกหลายๆอย่าง ก็จะช่วยทำให้เรารู้สึกสนุกและลืมเรื่องความเหงาไปได้ เลยมักจะมีคนบอกว่า เวลาอกหักแล้วเกิดเหงา ไม่รู้จะทำอะไร เพราะปกติต้องไปกับแฟน แต่ตอนนี้ไม่มีแฟนแล้ว ให้พยายามหากิจกรรมอื่นเข้ามาในชีวิต เพื่อให้เราไม่ไปยึดติดกับความเหงานั้น และทำให้เราปรับลดความหวังไปอีกระดับนึง
  2. เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคมที่ได้รับให้มากขึ้น (Increase actual level of social contact) หลายคนก็เลือกที่จะแก้เหงาด้วยวิธีนี้ โดยส่วนใหญ่จะทำการสร้างสังคมใหม่ๆ เพื่อจะได้เพื่อนใหม่ อย่างเช่น ไป hang out กับเพื่อนที่ยังไม่ค่อยสนิทกัน ลองไปทำกิจกรรมอาสาต่างๆ  ออกไปทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ เช่น วิ่งมินิมาราธอน ปั่นจักรยาน ดำน้ำ สมัครเรียนปริญญาโทหรือประกาศนียบัตร  เป็นต้น หรือบางคนซึ่งอาจจะไม่ค่อยชอบออกไปเจอผู้คนใหม่ๆเท่าไหร่ ก็อาจจะเพิ่มความสัมพันธ์กับเพื่อนๆที่ตัวเองมีอยู่ เช่น เริ่มคุย line กับ เพื่อนมากขึ้น  มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ตัวเองรู้จักมากขึ้นยอมออกจากบ้านไปเที่ยวกับเพื่อนๆ  คุยโทรศัพท์กับเพื่อนมากขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว
  3. ปรับลดความสำคัญของความแตกต่างระหว่างความสันพันธ์ที่อยากได้กับที่ได้รับให้ลดลง (Minimize the size of important of social deficiency) วิธีการนี้อาจจะยากสักหน่อยแต่ก็เป็นอีกวิธีที่คนเราใช้เพื่อปรับลดความเหงาในจิตใจ บางครั้งเราเลือกกดความรู้สึกเหงาของเราเอาไว้ในจิตใจโดยการแสดงออกที่ทำให้คนอื่นดูว่า เราสดใสร่าเริง มีความสุข ซึ่งแน่นอนว่าก็จะช่วยเราไม่รู้สึกเหงาไปชั่วขณะได้แม้จะไม่ยั่งยืนก็ตาม  อีกอย่างที่คนเรามักจะทำกันก็ คือ การที่เราลดคุณค่าในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมลงและมองว่ามีอีกตั้งหลายเรื่องในชีวิตที่สำคัญไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมเท่านั้น  เช่น บางคนอาจจะปรับลดความเหงา ไม่ค่อยมีเพื่อนด้วยการมองว่าไม่เห็นต้องมีเพื่อนเยอะแยะเลยนิ  เราว่าเรื่องเรียน เรื่องงานสำคัญกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีสังคมเยอะแยะก็ได้นิ  แม้วิธีแบบนี้อาจจะดูว่าคนๆนั้นเป็นคนแปลกๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอีกวิธีการที่คนเราใช้เพื่อจะเอาตัวรอดจากภาวะที่รู้สึกอึดอัดแบบนี้

 

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ความเหงาเป็นเรื่องที่ทุกคนคงต้องเจอกันบ้างแหละในชีวิต เพราะเนื่องจากคนเราเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องพบเจอคนอื่นอยู่ทุกวัน การเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นก็เกิดขึ้นทุกวัน เวลาเปลี่ยนไปคนที่เราเคยสนิทก็อาจจะกลายเป็นไม่สนิทก็ได้ ไหนจะเรื่องกรอบของสังคมอีก หลายๆอย่างทำให้บางครั้งเราก็รู้สึกเหงา เราก็รู้สึกไม่มีใคร เราก็รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ แต่ยังไงก็ตามสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกแย่หรือเหงาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นสำคัญบางครั้ง เราก็อาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราหวังกับสังคมรอบตัวเรามากไปหรือป่าว”

ลองดูไหม ลองออกไปทำกิจกรรมต่างๆคนเดียวดูบ้าง ลองออกไปวิ่งสวนตอนเช้า ลองออกไปดูหนังที่อยากดูคนเดียว ลองออกไปนั่งฟังเพลงชิวๆที่เราชอบ ลองหยิบหนังสือสักเล่มเข้าร้านกาแฟแล้วนั่งอ่านไป ไม่แน่ว่าสุดท้ายคุณอาจจะชอบเวลาคุณใช้ชีวิตคนเดียวด้วยซ้ำไป และการทำแบบนี้จะสร้างให้คุณไม่ยึดติดกับสังคมมากจนเกินไป และแน่นอนว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นเพราะคุณเป็นคนกำหนดมันเอง และไม่ปล่อยให้สังคมมาเป็นตัวกำหนดความสุขของคุณ แต่ให้สังคมเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้น……….

 

บางทีเราอาจจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตคนเดียวก็เป็นไปได้

แด่คนขี้เหงาทุกคน

—- เนดะ

Reference:

Peplau, L. A., & Perlman, D. (1979). Blueprint for a social psychological theory of loneliness. In M. Cook & G. Wilson (Eds.), Love and attraction. Oxford, England: Pergamon, 99-108.

 

Leave a comment