เราจะสอนเด็กของพวกเรายังไง?

717311OEwDL

วันนี้ผมนอนเอนกายนั่งเล่น facebook ตามภาษาของวันเสาร์ที่ไม่มีงานรัดตัวมากเท่าไหร่ ในขณะที่นั่งเล่นไปก็เห็นหลายๆคนเปลี่ยนรูป profile ใน facebook เป็นรูปตัวเองตอนเด็กๆ หลายคนรูปตอนเด็กก็น่ารักจนรู้สึกว่า “ไม่น่าโตมาเลยนะมึงอะ” หลายคนก็เขียนความประทับใจในวัยเด็กผ่านทาง status

ตอนแรกผมก็ยังไม่ได้เอ๊ะใจอะไรว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนรูป profile แต่พอเห็นหลายคนเข้าเริ่มนึกได้ว่า อ้าวเวร!!! วันนี้มันวันเด็กนี่หว่า!!!! มิน่าเขาถึงมาโชว์รูปตอนเด็กกันเยอะเลย ผมรู้สึกในตอนนั้นว่า “นี่กูแก่มาจนลืมวันเด็กเลยหรอเนี่ย 555”

พอลองมองย้อนกลับไปในวัยเด็กของเรา ก็ทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวต่างๆในวัยเด็กของตัวเอง สุขบ้างทุกข์บ้าง สนุกบ้างร้องไห้บ้าง เบื่อบ้างตื่นเต้นบ้าง และก็ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้ซื้อเองแต่ว่า มีเพื่อนคนนึงซื้อมาแล้วมันก็หยิบให้ผมแล้วบอกว่า “หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับมึง มึงอ่านยัง?” ผมตอบไปว่า “กูไม่เคยเห็นมาก่อนเลยหวะ” มันเลยบอกว่า “งั้นมึงเอาไปอ่าน อ่านเสร็จแล้วค่อยเอามาคืน” จนวันนี้อ่านจบรอบที่สอง ถามว่าผมเอาไปคืนมันหรือยัง แน่นอนครับยังไม่คืน 5555

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “How Children Succeed” ของ Paul Tough เป็นหนังสือที่ต้องบอกตรงๆว่า เป็นหนังสือที่ผมชอบอีกเล่มนึงทีเดียว

ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือ คนแต่งเขาพยายามรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักกับเด็กที่ได้ชื่อว่าด้อยโอกาสทางการศึกษา และทำการรวบรวมเพื่อที่จะหาให้ได้ว่า อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้เด็กคนนึงประสบความสำเร็จและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่ดี และไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสังคม

โดยในตอนต้นเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ผู้แต่งพยายามพูดถึงเรื่อง IQ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในอเมริกาให้ความสำคัญอยู่ในยุคหนึ่ง โดยมีงานวิจัยสนับสนุนมากมายว่า IQ นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ

ถ้ายิ่งมี IQ สูงความรู้ความสามารถเยอะแล้วละก็ ก็มีโอกาสที่เด็กคนนั้นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต หลายๆองค์กรก็เข้าไปปรับเพิ่มความรู้ ความสามารถของเด็กด้อยโอกาสทางด้านนี้ เช่น Teach for America ที่ได้นำเอานักศึกษามหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆเข้าไปช่วยสอนให้กับเด็กด้อยโอกาสเพื่อที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับเด็กด้อยโอกาส

แต่ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดจริงๆหรอที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ?

นี่เป็นคำถามที่อยู่ในหัวของ Paul หลายๆกรณีเราพบว่าเด็กที่ได้รับการดูแลอย่างดีจนมีความรู้มากจนสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยได้ กลับไม่สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ นั่นเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่า คนที่มี IQ มากพอที่จะสอบเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย ทำไมถึงไม่สามารถเรียนจบได้

และทำให้ Paul คิดว่าจะต้องมีสิ่งอื่นๆที่มีผลในการจะทำให้เด็กคนนึงประสบหรือไม่ประสบความสำเร็จอีกหรือไม่?

ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาในโรงเรียนต่างๆและเข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆที่ด้อยโอกาสแต่ละคน ทำให้ Paul ค้นพบบางอย่างว่า จริงๆแล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จนั้น

ไม่ใช่การทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น แต่เป็นการที่ปลูกฝัง “คุณลักษณะ” ต่างๆให้กับเด็ก ซึ่งได้แก่ สำนึกผิดชอบชั่วดี ความมุมานะ ความหยุ่นตัว ความไม่ย่อท้อ และการมองโลกในแง่ดี

แล้วจะปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร การจะปลูกฝังให้เกิดคุณลักษณะเหล่านี้ได้ เราในฐานะผู้ใหญ่จะต้องยอมให้เด็กล้มในก้าวเดินแรกของเขาบ้าง ให้เขารู้จักรับมือกับความล้มเหลวและให้ประสบการณ์สอนเขาให้สร้าง คุณลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับตัวเอง

ดังนั้นสิ่งที่เด็กต้องการที่สุด คือ “ความยากลำบากอันสมวัย” และโอกาสที่จะล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ใหญ่มีหน้าที่ในการคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำเขาอยู่ห่างๆเท่านั้น

ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ผู้แต่งกลับมาย้ำในเรื่องการพัฒนาของเด็กยากจน โดยกล่าวว่าความยากจนจะถูกขจัดไปได้นั้นก็จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน แต่อย่างไรก็ตามตัวเด็กเองก็ต้องพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาและต้องพยายามมากกว่าเด็กในฐานะอื่นๆ อีกเป็นเท่าตัว

ซึ่งแม้ว่ามันจะยากแต่ความแข็งแกร่งและไม่ย่อท้อนี่แหละจะเป็นตัวผลักดันให้เขาสามารถยกระดับตัวเองออกจากความยากจนได้

ส่วนตัวคิดว่าจริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมาะกับแค่นักพัฒนาการศึกษา หรือ ครูอาจารย์ เท่านั้น แต่มันเหมาะกับผู้ใหญ่ทุกคนที่จะต้องคอยดูแลและเลี้ยงเด็กๆ

และแม้ว่าในหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องของเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนและด้อยโอกาสเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆแล้วไม่ว่าครอบครัวของเด็กๆจะมีฐานะเป็นยังไง

จุดหลักสำคัญในการผลักดันให้เด็กประสบความสำเร็จก็คือ ความแข็งแกร่งของลักษณะนิสัยในตัวเด็กคนนั้นที่ถูกปลูกฝังมา ไม่ใช่แค่เพียงการมีความรู้เท่านั้น การมีความรู้เป็นเพียงผลที่เกิดจากลักษณะนิสัยที่แข็งแกร่งของเด็กคนนั้น

ไม่มีคนไหนหรอกที่เกิดมาแล้วเก่งเลยโดยที่ไม่ได้ผ่านการทำงานหนัก
ไม่มีคนไหนหรอกที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้เลยโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามและการต่อต่อสู้
และไม่มีคนไหนหรอกที่จะมีความสุขและดำเนินชีวิตในโลกนี้ได้โดยขาดการมองโลกในแง่ดี

แล้วตอนนี้ลูกๆหลานๆคุณ คุณเลี้ยงเขายังไง…….

Success is not all about intelligence but it is also about diligence.

ด้วยศรัทธาแห่งความพยายาม

—- เนดะ

Reference:
Tough, P. (2012). How Children Succeed. Boston, MA: Houghton Mifflin Harcourt .

Why friend is so important?

ดาวน์โหลด

ผมตื่นขึ้นมาในเช้าวันเสาร์ด้วยอาการง่วงอย่างถึงที่สุด ทันใดนั้นเหลือบไปมองนาฬิกาที่หัวเตียง ก็รีบวิ่งอาบน้ำแต่งตัวแล้วออกจากบ้านทันที

ทำไมนะหรอ?
ก็ไปเรียนภาษาอังกฤษนะสิ สายมากๆแล้วด้วย พอมาถึงห้องเรียนด้วยอาการหืบหอดจากความรีบ ผมนั่งลงตรงที่นั่งประจำ อาจารย์ฝรั่งหันมาแซวที่ผมมาสาย

หลังจากนั้นก็เริ่มสอนต่อ คลาสนี้เป็นคลาส Speaking ซึ่งการสอนของอาจารย์ท่านนี้ก็จะถามคำถามกับนักเรียนในห้องไปเรื่อยๆ คำถามก็มีตั้งแต่ทักทายธรรมดา จนไปถึงคำถามระดับยาก คือ คำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว คำถามที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม และคำถามที่ให้แสดงความคิดเห็น

อาจารย์หันไปถามน้องผู้ชายคนแรกด้วยคำถาม “What do think about capitalism?” ผมนึกในใจ แม่งแอบยากนะ ต่อมาก็ถามหันไปถามน้องผู้หญิงเด็ก ม. 5 ว่า “What is the area of development for Thailand education system?” ผมนึกในใจถ้าวนมาถึงกูนี่ ท่าทางกูต้องเป็นนายกละถึงจะตอบได้

พอคำถามวนมาถึงผม ผมกลั้นหายใจเฮือกใหญ่ ทันใดนั้นอาจารย์ก็ถามผมด้วยคำถาม “Why friend is so important?” ผมตกใจไปประมาณ 2 วินาที เพราะว่าคำถามมันดูเหมือนง่ายกว่าที่คาดไว้แต่พอเริ่มนึกว่าจะตอบอะไรกลับยาก ยากมาก ยากมากจริง

ผมอ้ำอึ้งก่อนตอบไปว่า “Because friend is a part of our life and is our complement. Actually, we can live without friend but we will lose our soul. To be honest, This question is really hard for me.”

ผมหยุดคำตอบไว้แค่นั้น อาจารย์เหมือนจะรู้ว่ามันอาจจะยากสำหรับผม เลยไม่ถามอะไรผมต่อเหมือนกับคนอื่นและหันหน้าไปถามคนอื่นต่อ หลังจากคลาสวันนั้นผมนั่งครุ่นคิดคำถามนี้อยู่นานและก็แอบสงสัยว่า

“จริงๆแล้วทำไมละ ทำไมคนถึงให้ความสำคัญกับเพื่อนถึงขนาดนั้น?”

เพื่อที่จะเข้าใจมากขึ้น ผมพยายามค้นคว้าคำที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ “Friendship” หรือ “ความเป็นเพื่อน” หรือถ้าจะให้สวยกว่านั้นใช้คำว่า “มิตรภาพ”

โดยมิตรภาพนั้นเนี่ยนักจิตวิทยาเขาให้ความหมายว่า “ความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีให้กันซึ่งจะแสดงในรูปความใกล้ชิดสนิทสนมต่อกันและคอยให้ความช่วยเหลือกัน”

ซึ่งโดยความหมายของมิตรภาพเนี่ยจะลึกซิ้งและแนบแน่นกว่าคำว่า “association” หรือ “การคบค้าสมาคม” ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีการติดต่อกันเนื่องจากมีอะไรที่เหมือนกัน โดยยังไม่ได้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันสักเท่าไหร่ แต่ “มิตรภาพ”

ก็ยังเป็นเพียงส่วนย่อยของคำว่า “ความรักที่สมบูรณ์” เพราะความรักจะสมบูรณ์ได้นั้น นอกจากจะต้องประกอบด้วย Intimacy (ความสนิทสนม) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ Friendship แล้ว ยังต้องมี Passion (ความหลงใหล) ซึ่งเป็นแนวหลงรักแบบโรแมนติก และ Commitment (ความผูกพัน) ซึ่งหมายถึงมีสายใยเชื่อมต่อกันทั้งในแง่จิตใจและแง่กฎหมายด้วย

ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่าในทางจิตวิทยาคำว่า “มิตรภาพ” เป็นความสัมพันธ์ของบุคคลที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความสัมพันธ์ที่ดีทีสุด คือ “ความรักที่สมบูรณ์” กับ “การคบค้าสมาคมทั่วไป”

และนี่หรือป่าวที่ทำให้ “มิตรภาพ” ยั่งยืนกว่า “ความรัก” เพราะความซับซ้อนมีน้อยกว่า องค์ประกอบน้อยกว่าจึงอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังในความสมบูรณ์ของความสัมพันธ์นี้น้อยกว่าก็เป็นได้

เราไม่เคยหวังว่าเพื่อนจะต้องมากินข้าวกับเราตลอดเวลา เราไม่เคยหวังดอกไม้จากเพื่อนในโอกาสสำคัญ เราไม่เคยหวังแม้กระทั่งต้องคุยโทรศัพท์กับมันทุกวัน แต่กับความรักเรากับทำอย่างนั้นไม่ได้………

เพราะอะไรนะหรอ?
อาจจะเพราะเราพยายามมองความรักไว้สมบูรณ์เกิดไป เราเลยคาดหวังกับมันมากๆ โดยลืมไปว่าความรักไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ครบทุกองค์ประกอบก็ถือได้ว่าเป็นความรักได้แล้ว แม้อาจจะไม่สมบูรณ์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีคุณค่า

ดังนั้นแล้ว “ความรักที่สมบูรณ์” อาจถือว่าเป็น ความรักในอุดมคติ (ideal love) แต่ “ความรักที่ไม่คาดหวัง” อาจจะเป็น ความรักของจริง (True love) ก็เป็นไปได้

—————————————————————

มาว่ากันต่อในเรื่องมิตรภาพ คำว่า “มิตรภาพ” เองนั้นก็นักจิตวิทยาหลายท่านพยายามแบ่งประเภทของ “มิตรภาพ” ออกเป็นระดับต่างๆตามความสนิทสนมของความสัมพันธ์ แต่ละท่านก็จะแบ่งได้จำนวนประเภทไม่เหมือนกัน บางท่านแบ่งเป็น 7 ประเภท บางท่านแบ่งเป็น 5 ประเภท แต่มีนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งที่แบ่งประเภทของมิตรภาพได้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งมิตรภาพออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ

1) Acquaintance หรือ “เพื่อนเล่น” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประสบการณ์หรือกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน แต่ต่างคนต่างไม่ได้รู้จักกันอย่างจริงจัง เช่น เพื่อนใน facebook, เพื่อนที่ไปวิ่ง เตะบอล เล่นโยคะ ด้วยกัน

2) Casual หรือ “เพื่อนเพื่อน” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกต่อกัน มีการพูดคุยกันสื่อสารต่อกัน แต่จะไม่เปิดเผยอารมณ์ที่แท้จริงต่อกันสักเท่าไหร่ รวมถึงจะไม่เปิดเผยเรื่องที่กระทบจิตใจ หรือ เรื่องสำคัญในชีวิต เช่น เพื่อนในห้องแต่อยู่คนละแกงค์ เพื่อนที่ทำงานกลุ่มด้วยกัน เพื่อนร่วมชมรม

3) Agentic หรือ “เพื่อนสนิท” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอกจากจะมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆแล้ว ก็ยังมีความสนใจในเรื่องต่างๆใกล้เคียงกัน มีค่านิยม lifestyle เป้าหมายต่างๆร่วมกัน มีความสนิทสนมแนบแน่นต่อกันเปิดเผยต่อกันในหลายๆเรื่อง เช่น เพื่อนๆในแกงค์เดียวกัน เพื่อนๆในทีมเดียวกันที่สนิทกัน

4) True หรือ “เพื่อนเท้” คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่คล้ายกับ “เพื่อนสนิท” แต่ลึกซึ้งกว่าในแง่ที่จะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน รวมถึงคอยปกป้องซึ่งกันและกัน บางครั้งเราอาจจะเรียกว่า “เพื่อนตาย” ก็ได้ คือพร้อมจะอยู่เคียงข้างกันเสมอไม่ว่าจะเป็นหรือตาย เช่น คู่ทหารที่เป็นบัดดี้กันเวลาออกรบ โดเรมอนกับโนบิตะ เพื่อนสนิทโคตรๆที่ออกตัวปกป้องเสมอไม่ว่าจะทำอะไรผิดพลาดจะทำเลวขนาดไหนก็ตามเหอะ

แล้วทำไมเราต้องมีมิตรภาพด้วยหละ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราตามธรรมชาติไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวคนเดียว เราจำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย และพอความสัมพันธ์เริ่มสนิทแนบแน่นขึ้นก็ทำให้เกิดมิตรภาพขึ้นมา “มิตรภาพ” จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นปกติ

และนอกจากนี้มิตรภาพก็ยังส่งผลกระทบต่อพวกเราทั้งจิตใจและร่ายกายด้วย มีหลายๆงานวิจัยในเชิงจิตวิทยาให้การสนับสนุนว่ามิตรภาพ (Friendship) มีความสัมพันธ์ในแบบผกผันกับความโดดเดี่ยว (loneliness) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกช่วงวัย

โดยเป็นที่รู้กันดีว่าความโดดเดี่ยวมีผลต่อเรื่องความซึมเศร้า (depression) รวมถึงทำให้ขาดความสามารถในการเข้าร่วมสังคม (sociability) ซึ่งสี่งเหล่านี้ส่งผลต่อทั้งสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ

นอกจากนี้ยังมีการทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของมิตรภาพที่มีกับความเครียด (stress) กันอย่างแพร่หลายซึ่งผลการวิจัยค้นพบว่ามิตรภาพมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญ

และก็มีหลายงานวิจัยศึกษาลงไปยังรายละเอียดมากขึ้นทั้งความแตกต่างของเพศและวัย โดยในปี 2002 University of California, Los Angeles (UCLA) ได้มีงานวิจัยซึ่งมีชื่อเสียงอย่างแพร่หลายและสั่นสะเทือนวงการจิตวิทยาในสมัยนั้นอย่างพอตัวเลยทีเดียว คืองานวิจัยที่ค้นพบว่าผู้หญิงจะมีพฤติกรรมใฝ่หามิตรภาพเมื่อตนเองรู้สึกว่าเกิดความเครียด ซึ่งเป็นการฉีกกรอบความรู้แบบเก่าโดยสิ้นเชิง

โดยที่เมื่อก่อนมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่เครียด กดดัน หรือ กลัว มนุษย์จะมีพฤติกรรมเพียงแค่ “หนีจากสิ่งนั้น” หรือไม่ก็ “ต่อสู้กับสิ่งนั้น” (fight or flight response) แต่งาานวิจัยนี้กลับบ่งบอกไปยังพฤติกรรมอื่นและมีการศึกษาไปในแง่ของสารเคมีในร่างกาย

โดยจากงานวิจัยพบว่าระดับฮอร์โมน “Oxytocin” สูงขึ้นอย่างน่าประหลาดในผู้หญิงที่มีความเครียด ซึ่งฮอร์โมนนี้ถูกจัดเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพันและทำให้เกิดพฤติกรรมการใฝ่หามิตรภาพกับผู้หญิงด้วยกัน

จากงานวิจัยนี้ผมเลยไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเวลาเครียดผู้หญิงถึงเรียกเพื่อนไปช๊อปปิ้งหรือนั่งเมาท์มอยกินขนม ในขณะที่ผู้ชายอาจจะแค่ขออยู่คนเดียวในห้องฟังเพลงหรือสูบบุหรี่ ดังนั้นแล้วต่อไปทุกๆท่านไม่ควรจะห้ามผู้หญิงออกไปช๊อปปิ้งหรือเที่ยวกับเพื่อนๆนะครับ เพราะถือเป็นการลดทอนความเครียดได้และจะส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

ในปัจจุบันซึ่งสังคมมนุษย์มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความสุข” (happiness) กันอย่างแพร่หลายเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการสูงสุดของชีวตมนุษย์ การศึกษาวิจัยก็มีทั้งการศึกษาด้านศาสนา ด้านปรัชญา รวมไปถึงการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

ในการศึกษาแต่ละแขนงก็มีการระบุถึงความสำคัญของมิตรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกได้กล่าวว่า มิตรภาพ (friendship) และ ความสัมพันธ์ (relationship) เป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสุข

โดยมีงานวิจัยของ Ed Diener และ Martin Seligman ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก ได้ทำงานวิจัยโดยคัดเอานักศึกษาของ University of Illinois ทั้งหมด 10% ที่ได้คะแนนความสุข (Personal happiness) สูงที่สุดมาทำารศึกษาถึงทัศนคติและพฤติกรรม

และพบว่านักศึกษาที่มีความสุขมากและความซึมเศร้าน้อยจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือ “เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวอย่างแน่นแฟ้น และมักจะอุทิศเวลาให้กับเพื่อนและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ”

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเพิ่มเติมลึกลงไปในแง่คุณภาพของมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ โดยจากงานวิจัยของ Jackson, Soderlind, และ Weiss กล่าวว่าการจะสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด” (close relationship) หรือ “มิตรภาพแท้” (True friendship) ต้องผ่านกระบวนที่เรียกว่า “การเปิดเผยตนเอง” (self-disclosure) ซึ่งหมายถึง ความสมัครใจที่จะเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัว อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนเอง

ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้จะช่วยลดความโดดเดี่ยว (loneliness) และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความสุข นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ Wheeler ที่ศึกษานักเรียนที่มีเพื่อนเยอะและก็ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนๆเหล่านั้นด้วย จากผลการวิจัยพบว่านักเรียนบางคนยังรู้สึกโดดเดี่ยวแม้ว่าจะใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนมาก

Wheeler จึงทำการศึกษาต่อและค้นพบว่านักเรียนที่เพื่อนมากแต่โดดเดี่ยวนั้น ส่วนใหญ่จะพูดคุยกับเพื่อนเฉพาะเรื่่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น การเรียน กีฬา กิจกรรมต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องชีวิตส่วนตัวหรือความรู้สึกมากนักซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยของ Jackson, Soderlind, และ Weiss

ซี่งตอกย้ำว่าคุณภาพของความสัมพันธ์นั้นมีค่ามากกว่าปริมาณของความสัมพันธ์

นอกจากนั้นงานวิจัยของ Brown et al. ยังมีการเพิ่มเติมว่า “ความสุข” นั้นไม่ได้เกิดจากแค่การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เท่านั้น แต่จะเกิดความสุขอย่างสมบูรณ์ได้ต้องมีการให้การสนับสนุนผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า มิตรภาพ ที่สมบูรณ์และจะก่อให้เกิดความสุขได้ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ใส่ใจ คอยดูแลสนับสนุนซึ่งกันและกัน และจะต้องเปิดเผยตนเองต่อกัน

เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็ต้องกลับลองไปทบทวนตนเองแล้วแหละว่าเราให้ความสำคัญกับคุณภาพของ “มิตรภาพ” มากซักแค่ไหนกัน

ส่วนตัวผมคิดว่า “มิตรภาพ” เป็นความสัมพันธ์และบทบาททางสังคมที่แปลกประหลาดที่สุด

เป็นความสัมพ้นธ์ที่จะว่าใกล้ชิดกันทีสุด ก็อาจจะไม่เพราะสู้ความสัมพันธ์ของครอบครัวไม่ได้
จะว่าเป็นความสัมพันธ์แบบตกหลุมรักแบบหัวปักหัวปำอย่างแฟนก็ไม่ใช่ จะเป็นความสัมพันธ์แบบมีความคาดหวังเหมือนในตัวคนนั้นเหมือนครูกับลูกศิษย์ ก็ไม่ใกล้เคียง

มันเป็นความสัมพันธ์แบบงงๆของคนอายุใกล้กันซึ่งบางครั้งก็ต่างกันสุดขั้ว บางครั้งก็ทะเลาะกันบ้าง บางครั้งก็เบื่อกับมันบ้าง บางครั้งเราก็เซ็งแม่งแต่พอมีปัญหาทีไรคนที่เลือกจะปรึกษากลับเป็นพวกมันทุกที

เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องอาศัยเวลาในการอยู่ร่วมกันทุกวัน แต่พอมาเจอหน้ากันหลังจากหายไปหลายปีก็รู้สึกได้ว่าความสัมพันธ์มันช่างคงเดิม

มีคนบอกกับผมว่าเพื่อนก็เหมือนกระจกที่เหมาะเจาะกับตัวเรา ที่คอยสะท้อนบอกสิ่งต่างๆให้กับเราได้ในแบบฉบับของคนที่อายุไล่เลี่ยกัน

คำบอกคำสะท้อนต่างๆอาจจะไม่คมคายหรือถูกต้องตามแบบคนมีประสบการณ์ แต่ก็ดีมากพอที่เราจะเชื่อและทำให้เรารู้สึกดีได้ ความสัมพันธ์ “เพื่อนแท้” นี้ก็อาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่ไม่หอมหวานแต่ยาวนาน ไม่ใกล้ชิดแต่ตราตรึง ไม่สวยงามแต่ไม่เคยเบื่อ ไม่ใหญ่โตแต่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะบรรยาย…………

จำได้ไหมตอนจะจีบใครใหม่ๆ ใครที่คอยให้คำปรึกษาคุณ?
จำได้ไหมตอนอกหักจากรักแรกเนี่ย ใครอยู่กับคุณบ้างตอนนั้น?
จำได้ไหมตอนใกล้สอบ ใครช่วยติวให้คุณอยู่?
จำได้ไหมว่าพอเพื่อนติวก็ยังไม่รู้เรื่องสอบตก ใครที่คอยมาช่วยคุณสอบให้ผ่าน?
จำได้ไหมว่าตอนที่คุณเครียดมากๆ ใครที่คุณเลือกที่จะโทรไปหาเป็นคนแรก?
จำได้ไหมตอนมีปัญหาไม่อยากบอกให้ที่บ้านรู้ ใครที่มันคอยให้คำปรึกษา?
จำได้ไหมตอนที่สนุกที่สุดในชีวิต เฮฮาที่สุดในชีวิต ใครกันที่อยู่ร่วมกับคุณในวันนั้น?
จำได้ไหมตอนที่ไม่มีใครเข้าใจคุณ ทำร้ายคุณ ใครเป็นคนปกป้องคุณไว้?
และ….จำได้ไหมว่า “Why friend is so important?”

แด่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เพื่อน” ทุกคน

————– เนดะ

Reference:
1) Sternberg, Robert J. (2004). “A Triangular Theory of Love”.
2) Miller: Intimate Relationships 6th Edition
3) Taylor, S. E., Klein, L.C., Lewis, B. P., Gruenewald, T. L., Gurung, R. A. R., & Updegraff, J. A., Behaviorial Responses to Stress: Tend and Befriend, Not Fight or Flight”, Psychol Rev, 107(3):41-429.
4) http://www.psychologytoday.com/…/friendship-the-key-happine…
5) Neilsen, C., Bowes, J., The relationship between children’s friendship networks and feelings of loneliness, 1997
6) Archana S., Nishi M., Loneliness, depression and sociability in old age, Ind Psychiatry J. 2009 Jan-Jun; 18(1): 51–55.
7) Gale B., UCLA Study On Friendship Among Women
8) The New Science of Happiness,” Claudia Wallis, Time Magazine, Jan. 09, 2005
9) Jackson, T., Soderlind, A., & Weiss, K. E. (2000). Personallity traits and quality of relationships as predictors of future loneliness among American college students. Social Behavior and Personallity, 28(5), 463-470.