จิตวิทยาแห่งความคิดถึง

คุณเคยคิดถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตบ้างไหม? คุณเคยอยากย้อนเวลาไปช่วงเวลานั้นไหม? แล้วคุณเคยคิดถึงใครจนแทบจะขาดใจไหม? ผมว่าพวกเราหลายๆคนคงเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต เหตุการณ์ที่มนุษย์เราเรียกมันว่า “ความคิดถึง” ความคิดถึงนั้นอยู่ในทุกๆที่อยู่ในทุกๆช่วงการดำเนินชีวิตของพวกเรา บางครั้งความคิดถึงก็รุนแรงจนทำให้เราอยากเป็นบ้า บางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เรายิ้มและหัวเราะทั้งน้ำตา

“ความคิดถึง” เป็นที่รู้จักกันดีในชีวิตมนุษย์เรามานานแล้ว เพราะเนื่องด้วยมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความผูกพันระหว่างกันและเป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความคิดถึง” อย่างจริงจัง จนกระทั่งในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับความคิดถึง แต่ศึกษาในเชิงผลเสียที่เกิดขึ้นกับความคิดถึง โดยในทางจิตวิทยาคลีนิกเราเรียกความคิดถึงว่า “nostalgia” มีรากศัพท์จากภาษากรีซ โดยเกิดจากการผสมคำคือคำว่า “nosto” แปลว่า “Homecoming” หรือการกลับบ้าน กับความว่า “algos” แปลว่า “pain” หรือความเจ็บปวด

โดยศัพท์นี้เกิดขึ้นจากนักเรียนแพทย์ที่ใช้เรียกอาการวิตกกังวลและความกลัวของมิชันนารีชาวสวิสที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อมาเผยแพร่ศาสนา หรือจะเรียกง่ายๆว่าเป็นอาการ “homesick” แต่เป็นระดับที่รุนแรงจนถึงว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจ ในช่วงแรกๆของการศึกษาความถึงนั้น นักวิจัยแทบทุกคนเน้นศึกษาเกี่ยวกับการรักษาทางคลีนิกและผลเสียที่เกิดจากอารมณ์ความคิดถึง โดยผลกระทบเนื่องจากความคิดถึงได้แก่ การนอนไม่หลับ (insomnia), ความวิตกกังวล (anxiety), ความผิดหวัง (depression) และนักวิจัยหลายท่านถือว่า “nostalgia” เป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง (symptom)

ต่อมาในช่วงปลายคริสศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันจึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับ “nostalgia” หรือความคิดถึงในเชิงบวกและเชิงโรแมนติกมากขึ้น โดยนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้คำนิยามคำว่า “nostalgia” เพิ่มเติมโดยหมายถึงการรำลึกหรือนึกถึงสิ่งต่างๆในอดีตซึ่งในปัจจุบันไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว จากงานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่าในขณะที่เกิดความคิดถึงสิ่งต่างๆในอดีตนั้น มนุษย์เรามันจะนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต และส่งผลให้เกิดรู้สึกถึงความอบอุ่น มีความคิดเชิงบวกเวลาเราเกิดอาการคิดถึง

มีหลายงานวิจัยที่ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ความคิดถึง” (nostalgia) กับ ตัวแปรทางจิตวิทยาต่างๆ ซึ่งปรากฎว่า “ความคิดถึง” นั้นมีผลดีต่อบุคคล เช่น ช่วยลดความเบื่อ (boredom) ถ้าลองนึกดูก็จะพบว่าเวลาเราเบื่อๆ บางครั้งก็มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆในอดีตของเราที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นมีคุณค่า ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราหายเบื่อได้ ความคิดถึงยังมีความสัมพันธ์กับการสนับสนุนทางสังคม (socail support) โดยความคิดถึงจะทำให้เราระลึกได้ว่าเรายังมีคนรอบข้างที่คอยให้การสนับสนุนเราอยู่ ซึ่งการระลึกนี้ก็จะช่วยให้เราคลายความเหงาและความวิตกกังวลลงได้ และบางครั้งก็ช่วยให้เราหายเครียด หดหู่ใจ หรือแม้กระทั่งช่วยให้คนที่กำลังจะตายด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ มีกำลังใจจะลุกขึ้นสู้ต่อไป

โดยส่วนตัวแล้วอยากจะสรุปว่าความคิดถึงนั้นส่งผลดีและผลเสียแก่ตัวบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าระดับความรุนแรงของความคิดถึงนั้นมีมากน้อยเพียงใด ถ้าความรุนแรงของความคิดถึงสูง เป็นแนว “illness” ความคิดถึงนั้นก็ก่อให้เกิดผลเสีย ความคิดถึงนั้นจะทำให้เราซึมเศร้า วิตกกังวลจนถึงกระทั่งเกิดความผิดปกติทางจิตใจและบางครั้งก็นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเราก็เคยได้เห็นกันมาบ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าความรุนแรงของความคิดถึงนั้นมีอย่างพอเหมาะ เป็นความคิดถึงแนว “missing” โรแมนติก ก็ทำให้เกิดผลดี คือทำให้เรารู้สึกว่ามีคนคอยเป็นห่วง คอยให้กำลังใจเราอยู่ แม้ว่าตัวเขานั้นจะไม่ได้อยู่เคียงข้างกับเราก็ตาม และบางครั้งการรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆในอดีตก็ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง และช่วยให้เรามีพลังที่จะต่อสู้และผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้

จะเห็นได้ว่าความคิดถึงนั้นส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลอย่างมากไม่ว่าจะเป็นทั้งผลดีหรือผลเสีย จนในทางการตลาดได้มีการนำเอา “ความคิดถึง” มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการขายผลิตภัณฑ์ เรียกว่า “nostalgic marketing” ซึ่งอาจจะได้เห็นกันบ่อยๆในช่วงนี้ ถ้าทุกท่านลองสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีศิลปินนักร้องในยุคเก่าๆ ออกมาเปิดคอนเสิร์ตรำลึก 10 ปี หรือ 20 ปี ให้คนฟังนั้นหายคิดถึง หรือบางครั้งเราจะเห็นการที่สินค้าต่างๆนำเอาสินค้าเก่าของตัวเองมาปัดฝุ่นใหม่ เพิ่มลูกเล่นให้ทันสมัยขึ้นแล้วนำออกมาขายในตลาด สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เราเรียกว่า “nostalgic marketing” หรือ “การตลาดแห่งความคิดถึง” และเราก็คงได้เห็นกันแล้วว่ายอดขายจากการตลาดแบบนี้สำเร็จอย่างถล่มทลาย ไม่เชื่อลองไปซื้อซีดีคอนเสิร์ต Raptor, Nuvo, ฺBakery มาดูได้….. ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ความคิดถึง” นั้นมีอนุภาพมากมายเพียงใด

มันก็คงจะจริงอย่างที่ว่ากันว่า ความคิดถึงนั้นมีอนุภาพมากๆและอยู่กับเราในทุกๆช่วงของชีวิตจริงๆ ในบางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เราเซ็งและก็อาจจะทำให้เราเศร้าได้ แต่ลองสังเกตดูสิ ทุกครั้งที่เราคิดถึงภาพความทรงจำดีๆมันมักจะกลับมาหาเราอยู่เสมอๆเลยนะ และความทรงจำนั้นก็มักจะทำให้เรามีความสุขแม้แม้ว่าตัวเราจะร้องไห้อยู่ก็ตาม ความคิดถึงก็คงจะเป็น “ความเจ็บปวดที่งดงาม” ประเภทหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้รู้สึกถึงว่าเรายังมีคนรอบข้างเราที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่กับเขาก็ตาม ดังนั้นแล้วจงอย่าหวาดกลัวความคิดถึงและจำไว้ว่า คนที่อยู่ในภาพความทรงจำแห่งความคิดถึงของคุณยังเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ…..

ตัวหนังสือเหล่านี้ร้อยเรียงมาจากความคิดถึงระหว่างเรา ขอบคุณที่ยังคิดถึงกันนะ

ผมก็คิดถึงคุณเหมือนกัน

—— เนดะ

Leave a comment